ใครที่กำลังมีแผนธุรกิจด้านตัดเย็บเสื้อผ้า หรือเพิ่งก้าวสู่เป็นน้องใหม่เปิดร้านตัดเย็บเสื้อผ้า และยังไม่รู้ต้องไปต่ออย่างไรดี เรามีกลยุทธ์ธุรกิจเสื้อผ้า ตั้งแต่การเริ่มต้นวางแผน และเคล็ดลับดี ๆ สำหรับว่าที่นักธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้าสร้างแบรนด์น้องใหม่มาฝาก ว่าแล้วก็อย่าช้า ลุยกันเลย!
สเต็ปแรก
1.วางแผนและโครงร่างอย่างชัดเจน
เขียนข้อมูลตั้งแต่เริ่มต้น ไปจนถึงข้อสรุปในตอนท้าย โดยอธิบายตั้งแต่หลักการของการเกิดธุรกิจลักษณะของธุรกิจเสื้อผ้าของคุณเป็นอย่างไร มีความแตกต่างจากคู่แข่งตรงไหน และการวางแผนการในอนาคตของคุณเป็นไปในรูปแบบใด เพื่อเป็นแรงดึงดูดที่สามารถจูงใจนักลงทุน ที่อาจสนใจธุรกิจของคุณ และต้องการร่วมเป็นพันธมิตร เพราะทุกวงการธุรกิจ การมีผู้ร่วมทุนหรือหุ้นส่วน เป็นสิ่งสำคัญในเรื่องของการหมุนเวียนเงินทุน เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ธุรกิจก้าวต่อไปได้ อย่างไม่มีสะดุด
2. วางแผนการเงินอย่างรัดกุม
- สิ่งที่ต้องคำนึงอันดับแรกเลยคือ ต้องดูว่าคุณมีต้นทุนเท่าไร มากพอที่จะนำมาลงทุนแค่ไหน หรือหากต้องมีการกู้ยืม ก็หาข้อมูลเรื่องกองทุนกู้ยืม สถานที่ให้กู้ยืม สินเชื่อเพื่อธุรกิจที่ไว้ใจได้ เช่น ธนาคาร โดยหาข้อมูลและรายละเอียด ทำความเข้าใจข้อเสนอให้ถี่ถ้วน รวมไปถึงหลักประกันที่คุณอาจต้องมี เพื่อยื่นเสนอในการทำเรื่องเงินกู้
- คำนวณต้นทุน รายจ่าย และ กำไร ให้ถี่ถ้วน โดยจะต้องคำนึงถึงตั้งแต่เงินทุน ว่าคุณมีงบในการลงทุนทั้งหมดเท่าไร จดรายการให้ละเอียด วงเงินงบประมาณ รายการจ่ายทุกอย่าง ตั้งแต่ชุดอุปกรณ์เย็บผ้า วัตถุดิบ วัสดุเสริม เครื่องมือทุกชิ้น การตลาด การโฆษณา รายจ่ายในแต่ละเดือน ฯลฯ แล้วลองคำนวณค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับธุรกิจของคุณ ไปจนถึงประมาณ 1 ปี จากนั้นนำมาหักลบกับรายได้ ว่าจะเหลือกำไรประมาณเท่าไร คุ้มค่าหรือขาดทุน
3. แผนสำรองเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้าที่อาจยังไม่มีรายได้กลับคืนในช่วงปีแรก
คำนวณระยะเวลาที่คุณจะสามารถประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นไปได้ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี เพื่อดูว่า ธุรกิจของคุณจะสามารถผ่านพ้นไปได้หรือไม่ ซึ่งในช่วงปีแรกนั้น อาจยังไม่เห็นกำไร หรือแม้แต่ต้นทุนยังกลับคืนไม่หมดด้วยซ้ำ และอาจจะต้องมีแต่รายจ่ายและการลงทุนเพิ่ม คุณจะมีแผนสำรองเพื่อรองรับสถานการณ์ได้มากน้อยแค่ไหน และพร้อมที่จะรอหรือไม่ เพราะบางธุรกิจอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะประสบความสำเร็จ ในขณะที่บางธุรกิจอาจสร้างรายได้และผลกำไรในช่วงไตรมาสแรก
4. สำรวจข้อมูลการตลาด และหากลุ่มเป้าหมาย
- ข้อมูลการตลาดที่ว่านี้ ตั้งแต่ความต้องการของผู้บริโภค พิจารณาว่าคุณจะมุ่งเน้นไปทางค้าปลีก หรือค้าส่ง หรือคละทั้งสองแบบ แล้วหากลุ่มเป้าหมาย ผู้ที่จะมาเป็นลูกค้าในอนาคต เช่น คุณต้องการรับเหมาตัดชุดยูนิฟอร์มให้กับบริษัท องค์กร ก็คอยสำรวจข้อมูลของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสังเกตุถึงลักษณะแบบฟอร์มของพนักงาน รวมถึงรายละเอียดที่จะสอดคล้องกับองค์กรนั้นๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการนำเสนอขายงาน
- หาตลาดและแหล่งจำหน่ายวัตถุดิบ อุปกรณ์ตัดเย็บเสื้อผ้าซื้อที่ไหน ที่คุณสามารถไว้ใจได้ สำหรับการติดต่อค้าขายได้อย่างยาวนาน อาจเป็นร้านค้าขายส่ง หรือร้านขายอุปกรณ์ตัดเย็บออนไลน์ เพราะการมีแหล่งจำหน่ายวัตถุดิบที่มีคุณภาพและไว้ใจได้ จะส่งผลต่อมาตรฐานสินค้าของธุรกิจคุณ สร้างความน่าเชื่อถือในคุณภาพงานให้กับลูกค้า
- สำรวจคู่แข่ง ว่าใครคือคู่แข่งทางธุรกิจของคุณ ทั้งคู่แข่งในปัจจุบันและคู่แข่งในอนาคต และดูถึงสินค้า การบริการ ราคา ตามสุภาษิตที่ว่า รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง ถึงแม้ช่วงแรก ๆ อาจยังไม่ชนะ แต่อย่างน้อยคุณได้มีข้อมูลในการนำมาพัฒนาสินค้า และบริการของธุรกิจคุณ ซึ่งอาจให้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่าในอนาคต
5. ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฏหมายให้ถูกต้อง
ดำเนินการกรอกข้อมูลแบบฟอร์ม สำหรับขอใบอนุญาตทำธุรกิจ โดยเลือกว่าจะทำเป็นธุรกิจรายย่อย เป็นเจ้าของธุรกิจและถือหุ้นทั้งหมดคนเดียว หรือธุรกิจที่มีผู้ร่วมหุ้น หรือจะจดในนามห้างหุ้นส่วน ทำเรื่องการมีหมายเลขผู้เสียภาษี หากเป็นธุรกิจรายใหญ่ อาจมีการจ้างทนายเป็นที่ปรึกษา
สเต็ปที่สอง
- พิจารณาการรับผู้ช่วย หรือจ้างพนักงาน
คุณจำเป็นต้องจ้างพนักงานเพื่อธุรกิจของคุณหรือไม่ โดยดูจากคุณต้องการทำธุรกิจแบบค้าปลีกหรือค้าส่งก่อนเป็นอันดับแรก เพราะถ้าเป็นรูปแบบค้าส่ง คุณจำเป็นต้องมีผู้ช่วย เพื่อให้งานส่งลูกค้าได้ทันกำหนด ก่อนจะทำการจ้างพนักงาน คุณจะต้องกำหนดคุณสมบัติของลูกจ้างที่คุณต้องการ คำนวณค่าจ้าง และระยะเวลาการทำงานของพนักงาน แต่ถ้าหากคุณต้องการเริ่มต้นจากร้านตัดเย็บเล็กๆ และอาจยังไม่มีต้นทุนสำหรับการจ้าง หรือไหวที่จะทำทุกขั้นตอนเองคนเดียว ทั้งการออกแบบ ตัดเย็บ เย็บเก็บริม-ตะเข็บ ตั้งแต่ต้นจนจบคนเดียว จากนั้นอาจเริ่มมองหาผู้ช่วย หรือจ้างพนักงานเพิ่ม เมื่อธุรกิจเล็ก ๆ ของคุณเริ่มเติบโต
2. สร้างแบรนด์และชื่อบริษัท หรือชื่อร้าน
- คุณจะต้องตั้งชื่อร้าน หรือชื่อบริษัท ซึ่งอาจเป็นชื่อของคุณเอง ตัวย่อจากชื่อหรือนามสกุล หรืออะไรก็ได้ที่คุณชอบ แต่จะต้องคิดให้ดี เพราะมันจะเป็นชื่อที่ใช้ในธุรกิจของคุณไปตลอด และควรเป็นชื่อที่เรียกง่าย เพื่อให้จดจำง่ายแก่ลูกค้า
- หากคุณต้องการผลิตเสื้อผ้าเป็นแบรนด์ตัวเอง คุณสามารถตั้งชื่อแบรนด์ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นชื่อเดียวกับชื่อร้าน หรือชื่อบริษัท แต่ควรเป็นชื่อที่มีความสร้างสรรค์ บ่งบอกถึงสไตล์ และรูปแบบสินค้าไปในตัว เพื่อให้ลูกค้านึกถึงชื่อแบรนด์ของคุณ เมื่อต้องการดีไซน์ สไตล์เสื้อผ้า หรือจากคุณภาพของแบรนด์คุณ เช่น B.J ที่พลิกแพลงมาจากตัวย่อของชื่อคุณเอง หรือตั้งชื่อแนวสากลเก๋ๆ อย่าง Gloria ภาษาละติน ที่แปลว่าความรุ่งโรจน์ เป็นต้น
3. ออกแบบสัญลักษณ์แบรนด์ หรือตราสินค้า
- สร้างตราสินค้า หรือโลโก้แบรนด์ เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ เป็นตัวแทนผลิตภัณฑ์ และเป็นที่น่าจดจำของผู้บริโภค โดยเมื่อลูกค้าเห็นโลโก้ ก็สามารถนึกถึงสินค้าและการบริการของคุณได้ทันที โดยคุณลองออกแบบโลโก้ที่ต้องการหลาย ๆ แบบ แล้วเลือกรูปแบบโลโก้ที่ตอบโจทย์กับแบรนด์สินค้าเสื้อผ้า หรือร้านตัดเย็บผ้าของคุณมากที่สุด เพราะผู้คนจะจดจำโลโก้ของคุณไว้ และไม่ดีแน่ หากคุณจะมีการเปลี่ยนรูปแบบโลโก้ไปมา สร้างความสับสนให้กับผู้ซื้อ และอาจส่งผลต่อยอดขายและการใช้บริการได้
สเต็ปที่สาม
- ออกแบบเสื้อผ้า
- กรณีลูกค้าเป็นผู้ออกแบบ หรือมีแบบมาให้ตัด จะต้องสอบถามลูกค้าให้ละเอียด ถึงลักษณะเนื้อผ้าคุณสมบัติของผ้าที่ต้องการ โดยคุณจะต้องมีความรู้เรื่องเนื้อผ้า เพื่อหาและใช้ประเภทของเนื้อผ้าที่จะนำมาตัดชุดให้ลูกค้าได้อย่างเหมาะสม เช่น เจ้าของร้านคาเฟ่สั่งตัดผ้ากันเปื้อนให้พนักงานในร้าน คุณจะต้องรู้ว่าผ้าชนิดใดเหมาะกับการนำมาทำผ้ากันเปื้อนที่สุด เช่น ผ้าโซล่อน เป็นต้น
- กรณีคุณดีไซน์ และออกแบบเสื้อผ้า ให้กับแบรนด์ตัวเอง เพื่อจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป ตอนร่างแบบ คุณจะต้องเขียนอธิบายองค์ประกอบให้ชัดเจน และบอกรายละเอียดชนิดผ้า น้ำหนักผ้า โครงสร้าง และคุณสมบัติของเนื้อผ้าที่ต้องการ กับร้านจำหน่ายอุปกรณ์ตัดเย็บ หรือถ้าเป็นผ้าที่ต้องการพิมพ์ลาย สกรีนลาย ก็ต้องเลือกเนื้อผ้าให้เหมาะสม เช่น ผ้าโพลีเอสเตอร์ เป็นต้น
2. ออกแบบเสื้อผ้าตามฤดูกาล
โดยปกติแล้วเสื้อผ้าจะถูกออกแบบตามฤดูกาล ทั้งเสื้อผ้าแฟชั่น แบบฟอร์มพนักงาน เช่น ยูนิฟอร์มหน้าร้อนอาจใช้ผ้าที่บางเบา แขนสั้น และระบายอากาศได้ดี ในขณะที่ยูนิฟอร์มหน้าหนาว อาจมีเสื้อแขนยาว หรือเนื้อผ้าหนาขึ้นมาอีกเล็กน้อย เพื่อปกป้องอุณหภูมิร่างกายของผู้สวมใส่ ซึ่งส่วนใหญ่ห้างสรรพสินค้าจะสั่งซื้อเสื้อผ้าล่วงหน้าถึงสองฤดูกาล ในขณะที่ร้านจำหน่ายเสื้อผ้าขนาดเล็ก จะมีการซื้อเสื้อผ้าล่วงหน้าหนึ่งหรือสองฤดูกาล ดังนั้นคุณจึงต้องวางแผนสำหรับการออกแบบ และการผลิต เพื่อจัดส่งให้ทันตามออเดอร์
3. ผลิตเสื้อผ้า
- ไม่ว่าคุณจะผลิตเสื้อผ้า หรือตัดเย็บผ้าให้ลูกค้ารายปลีก หรือรับเหมาตัดเย็บผ้าให้กับองค์กรรายใหญ่ คุณจะต้องไม่ลืมที่จะสอบถามข้อมูล และรายละเอียดที่ลูกค้าต้องการให้มากที่สุด ทั้งเฉดสีผ้า การสกรีน พิมพ์ลาย และทำข้อตกลงทุกอย่างให้เป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจน ก่อนทำการผลิตทุกครั้ง
- หาและติดต่อร้านจำหน่ายวัสดุ อุปกรณ์ วัตถุดิบ ที่มีจำหน่ายให้คุณได้ครบจบในที่เดียวโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง เพื่อหาซื้ออุปกรณ์จากหลายร้าน ทำให้คุณได้ของครบ และยังสามารถขอคำแนะนำได้ในทุกเรื่องเนื้อผ้าและการตัดเย็บ ให้คุณทั้งประหยัดเวลา ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ครบทุกความต้องการที่ต้องใช้ แถมยังได้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ที่คร่ำหวอดในวงการสิ่งถักทอมายาวนาน และคุณอาจได้ว่าที่ลูกค้าในอนาคตเพิ่มขึ้นอีกด้วย
สเต็ปที่สี่
- ทำการตลาดเพื่อโปรโมทร้าน
- สร้างเว็บไซต์เพื่อโปรโมทสินค้า เพื่อทำการตลาดแบบออนไลน์ เพราะยุค 5G ทุกสิ่งจึงต้องเร็ว และการจะทำให้ร้านหรือแบรนด์ของคุณเป็นที่รู้จักได้เร็วขึ้น โซเชียลมีเดียจึงเป็นคำตอบที่ดี โดยคุณอาจสร้างเว็บไซต์ของร้านคุณเอง ในช่องทางออนไลน์ได้ทุกแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น FB , IG , TT หรืออาจไปฝากร้านไว้ในแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงและไว้ใจได้ เช่น อเมซอน , อีเบย์ , ช้อปปี้ หรือ ลาซาด้า เป็นต้น โดยคุณจะต้องใส่รายละเอียดและช่องทางการติดต่อร้านหรือแบรนด์ของคุณให้ชัดเจน รวมถึงช่องทางการจำหน่าย และคุณจำเป็นที่จะต้องสร้างบัญชีร้าน เพื่อให้ลูกค้าสามารถจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตได้
- ทำการตลาดแบบออฟไลน์ หากคุณชอบที่จะทำการตลาดแบบการเห็นหน้า ตัวต่อตัว อาจทำการโฆษณาด้วยตนเอง เช่น การเดินแจกใบปลิว หรือเข้าไปติดต่อกลุ่มเป้าหมายลูกค้าโดยตรง ซึ่งสามารถเลือกทำการโฆษณาด้วยตนเอง เช่น การสวมใส่เสื้อผ้าที่คุณออกแบบ หรือเสื้อผ้าแบรนด์ของคุณเอง เพื่อเป็นการโฆษณาไปในขณะเดียวกัน หากมีคนเห็นและสนใจ คุณก็ได้ลูกค้ามาโดยไม่ต้องเสียเงินจ้างบริษัทโฆษณา และสอบถามความคิดเห็นทุกคน เมื่อเห็นชุดที่คุณสวมใส่ เพื่อเก็บข้อมูลมาปรับปรุงแบรนด์ของคุณ
2. หาโอกาสไปร่วมงานแสดงสินค้าแฟชั่น หรือประเภทงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณ
การไปร่วมงานจัดแสดงสินค้า หรือแม้แต่การเช่าพื้นที่ ซึ่งอาจจะต้องมีการลงทุนสักหน่อย แต่คุณจะได้มุมมองและความรู้ใหม่ๆ จากผู้เชี่ยวชาญ ที่มาร่วมในงานนี้อย่างแน่นอน สามารถนำไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์กับแบรนด์ของคุณ และอาจจะได้ connection ต่างๆจากในงาน ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน ที่อาจสนใจร่วมหุ้นกับธุรกิจของคุณ หรือพนักงานคนเก่งมาร่วมทำงานกับคุณ และว่าที่ลูกค้า ที่อาจสั่งตัดเย็บตัดเสื้อผ้าจากร้านคุณจำนวนล็อตใหญ่
3. เตรียมพร้อมอุปกรณ์ วัสดุให้ครบ อยู่เสมอ เพื่อรองรับออเดอร์จากลูกค้า เมื่อมีการสั่งซื้อหรือใช้บริการ ก็สามารถทำการผลิตและจัดส่งให้ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว เป็นการสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า และต้องการกลับมาใช้บริการอีกจนเป็นลูกค้าประจำของธุรกิจคุณ และเมื่อคุณมีฐานลูกค้าที่มั่นคง ก็จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจของคุณเติบโตไปได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน
อย่าลืมติดตามบทความที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่