“น้ำ” คือ ของเหลวที่มีความสำคัญต่อชีวิตมาก ๆ เพราะในเลือดของคนเรามีน้ำเป็นองค์ประกอบหลัก ๆ ถึง 92% ด้วยกัน หากร่างกายขาดน้ำ จะทำให้รู้สึกปากคอแห้ง เวียนหัว เครียดง่าย และอาจมีอาการหน้ามืด เป็นลมได้ เนื่องจากเลือดหนืดจนไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้สะดวก ยิ่งถ้าใครที่มีโรคประจำตัว จะยิ่งเร่งอาการให้แย่กว่าเดิม ดังนั้น เราจึงควรดื่มน้ำให้ตามปริมาณที่ร่างกายต้องการ แต่รู้ไหมว่า ร่างกายของเราต้องดื่มน้ำวันละเท่าไรถึงจะเพียงพอ ควรดื่มน้ำเวลาไหนบ้าง และไม่ควรดื่มน้ำเวลาไหน แอดมินและทีมงานได้รวบรวมข้อมูลมาไว้ในบทความนี้แล้วค่ะ
ดื่มน้ำเท่าไรจึงจะดี
หากไม่แน่ใจว่าเราต้องดื่มน้ำเท่าไรถึงจะพอ ให้ดื่มน้ำไม่น้อยกว่า 2000 CC / วัน คือ ปริมาณน้ำที่ดีต่อคนที่มีสุขภาพปกติ สำหรับคนที่ไม่ต้องควบคุมการดื่มน้ำ และ ผู้ที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคไต
เวลาไหนบ้างที่ควรดื่มน้ำ
- ดื่มน้ำหลังตื่นนอนทันที (1 แก้ว)
หลังจากตื่นนอน ควรดื่มน้ำอุณหภูมิห้อง หรือน้ำอุ่น 1 แก้วทันที เพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียจากภาวะขาดน้ำตลอดคืน เนื่องจากสมองมีน้ำเป็นส่วนประกอบถึง 75% เมื่อสมองได้รับน้ำอย่างเพียงพอ จะช่วยกระตุ้นระบบการทำงานของสมอง รวมไปถึงระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายมีประสิทธิภาพ รู้สึกสดชื่น มีความกระปรี้กระเปร่า สมองปลอดโปร่ง พร้อมทำกิจกรรมต่าง ๆ ในวันใหม่ได้อย่างสดใส ไม่มีอาการมึนงงหรือปวดศีรษะจากภาวะขาดน้ำ
- ดื่มน้ำช่วงเช้า เวลา 08.00 น. (1 แก้ว)
ช่วง 08.00 น. ควรดื่มน้ำก่อนอาหารมื้อเช้า 1 ชั่วโมง ช่วยป้องกันอาการท้องอืดท้องเฟ้อหลังอาหาร แต่ถ้าใครที่ลดน้ำหนักด้วยการทำ IF หรือ Intermittent Fasting ควรงดมื้อเช้าแล้วรวบยอดไปทานมื้อกลางวันทีเดียว เพื่อให้ Ghrelin Hormone (ฮอร์โมนเกรลิน) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความหิว จะหลั่งออกมาเพียงเล็กน้อย หากร่างกายได้รับสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป และจะส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว แต่กลับกัน หากระบบย่อยในร่างกายได้พักจากการรับอาหารบ้าง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบเผาผลาญไขมันในร่างกายได้เป็นอย่างดี ส่งผลดีต่อสุขภาพ ผิวพรรณอ่อนเยาว์ และดีต่อการลดน้ำหนักอีกด้วย
- ดื่มน้ำช่วงสาย เวลา 09.00 – 10.00 น. (1 แก้ว)
ช่วงเวลา 09.00 – 10.00 น. คือ เวลาที่ร่างกายพร้อมต่อการทำงาน การดื่มน้ำในช่วงเวลานี้ จะช่วยกระตุ้นประสิทธิภาพการทำงานของระบบขับถ่ายได้เป็นอย่างดี ทำให้ของเสียถูกขับออกจากร่างกายได้ดี รู้สึกโล่ง เบาสบาย เพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย
- ดื่มน้ำช่วงบ่าย เวลา 13.00 – 16.00 น. ( 2 แก้ว)
การดื่มน้ำช่วงบ่าย ควรดื่มน้ำ 2 แก้ว แต่ไม่ต้องดื่มรวดเดียว เพราะจะทำให้ปัสสาวะบ่อยเกินไป ให้คอยจิบน้ำเป็นระยะ ๆ ช่วยดับความกระหาย และเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานในห้องปรับอากาศตลอดเวลา มีผลทำให้ผิวแห้งได้
- ดื่มน้ำช่วงเย็น เวลา 17.00 – 18.00 น. (1 แก้ว ก่อนอาหารมื้อเย็น)
การดื่มน้ำ 1 แก้วก่อนอาหารมื้อเย็น อย่างน้อย 1 ชั่วโมง จะช่วยป้องกันระบบย่อยอาหารไม่ให้ถูกน้ำรบกวน จนทำให้เกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อหลังมื้ออาหาร
- ดื่มน้ำตอนกลางคืน เวลา 19.00 – 21.00 น.
ช่วงกลางคืน ตั้งแต่เวล 19.00 เป็นต้นไป คือ ช่วงเวลาที่ระบบเลือดและระบบลำไส้ไม่ต้องทำงานหนักเหมือนช่วงเวลากลางวัน จึงควรเน้นการจิบน้ำเป็นระยะ ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นกลไกการทำงานของระบบเลือดและลำไส้
- ดื่มน้ำก่อนนอน 1 แก้ว (ไม่เกิน 24.00 น.)
การดื่มน้ำก่อนนอน เพื่อชะล้างสิ่งตกค้างภายในลำไส้ แต่ไม่ควรดื่มน้ำแล้วนอนทันที เพราะจะทำให้ปวดปัสสาวะกลางดึก จนรบกวนเวลานอน ส่งผลต่อระบบคุณภาพการนอนที่ดี นอนหลับไม่เต็มอิ่ม ทำให้มีอาการง่วง ซึม อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่สดชื่นตลอดวัน แต่ควรดื่มน้ำก่อนเข้านอน ประมาณ 1 ชั่วโมง ดีกว่า
- ดื่มน้ำเมื่อร่างกายสูญเสียน้ำ
โดยปกติในแต่ละวัน คนเรามักจะมีกิจกรรมให้ทำแตกต่างกันไป แต่สำหรับผู้ที่ต้องใช้การออกแรงเยอะ หรือมักจะทำกิจกรรมท่ามกลางแสงแดด ย่อมทำให้เสียเหงื่อเยอะด้วยเช่นกัน เช่น การทำงานกลางแจ้ง อาชีพก่อสร้าง นักกีฬา หรือผู้ที่ออกกำลังกาย กิจกรรมเหล่านี้ อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ จึงควรดื่มน้ำด้วยการจิบน้ำบ่อย ๆ ทั้งในช่วงระหว่างทำงาน จิบน้ำระหว่างออกกำลังกาย เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ลดความเสี่ยงการเกิดอาการเวียนศีรษะ หรือหน้ามืด เป็นลม และยังช่วยให้ร่างกายสดชื่น มีประสิทธิภาพในการทำงานรหรือออกกำลังได้มากขึ้น แต่ไม่ควรดื่มน้ำหมดแก้วภายในครั้งเดียว เพราะอาจทำให้เกิดอาการสำลักน้ำ หรือมีอาการจุดเสียดขณะออกกำลังกายได้