การกลั่นแกล้ง การหยอกล้อ อาจเป็นที่สนุกของใครหลายคน แต่คนที่ถูกแกล้ง คนที่ถูกหยอกอาจไม่สนุกด้วย และอาจรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคาม นำไปสู่ปัญหาสภาพทางจิตใจและอาจฝังรากลึกจนกลายเป็นสิ่งที่ทำร้ายตนหรือผู้อื่นในอนาคต ซึ่งเป็นผลมาจากการ “บูลลี่” นั่นเอง
บูลลี่ คืออะไร
บูลลี่ คือ การกลั่นแกล้ง หยอกล้อ ซึ่งแสดงออกในทางคำพูดหรือพฤติกรรมที่ก้าวร้าวต่อผู้อื่น เกิดขึ้นได้ในแทบทุกสังคม โดยเฉพาะสังคมที่นิยมในการแบ่งชนชั้นทางฐานะ อำนาจ หรือพละกำลังที่เหนือกว่า กดผู้ที่อ่อนแอกว่า เพื่อยกให้ตนดูเป็นผู้ที่เหนือกว่า ซึ่งการบูลลี่ (Bully) มักเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ที่สามารถพบได้ในโรงเรียนและในที่ทำงานทั่วไป และมีแนวโน้มว่าการบูลลี่จากความสนุกเพียงเล็กน้อยของไม่กี่คน กลับสร้างรอยบาดแผลที่ร้ายแรงให้กับคนที่ถูกกระทำไปตลอดชีวิตจนอาจกลายเป็นโรคทางจิตใจ เช่น โรคจิต โรคซึมเศร้า โรคกลัวขาดความรัก เป็นต้น
การบูลลี่มีกี่ประเภท
การบูลลี่ที่เกิดขึ้นในโลกเป็นประจำมักเกิดจาก 2 เงื่อนไขต่อไปนี้
- การกลั่นแกล้งด้วยการใช้กำลัง เกิดจากกลุ่มเด็กที่จำนวนคนมากกว่า มีอำนาจ หรือมีกำลังที่แข็งแรงกว่า กลั่นแกล้งผู้อื่นให้รู้สึกเกิดความอับอายในที่สาธารณะในทุกรูปแบบ
- การเกิดขึ้นซ้ำ ๆ จากพฤติกรรมกลั่นแกล้งบ่อยครั้ง ทั้งทางร่างกาย การข่มขู่ การปล่อยข่าวลือ การทำร้ายร่างกาย หรือแม้แต่การปล่อยข่าวลือให้เสียหายในสื่อโซเชียล
ประเภทการบูลลี่สามารถแบ่งออกได้ถึง 3 ช่องทางด้วยกัน แต่เมื่อเข้าสู่ยุคไซเบอร์ ก็เพิ่มมาเป็น 4 ช่องทาง ดังนี้
- (Verbal Bullying) การกลั่นแกล้งทางคำพูด คือ การกลั่นแกล้งทางวาจา การเขียน เพื่อสื่อความหมายในการกลั่นแกล้ง หรือแม้แต่การหยอกล้อเพื่อความสนุกสนาน เช่น การล้อเลียน หยอกล้อ การเรียกชื่อ การเหน็บแนม การเหยียดเพศ หรือ การขู่ให้เกิดกลัว
- (Social Bullying) การกลั่นแกล้งทางสังคม คือ การทำให้เสียชื่อเสียง ให้รู้สึกเสียหน้า แกล้งให้สูญเสียความสัมพันธุ์กับผู้อื่น เช่น กระจายข่าวลือให้เสียหาย ทำให้เกิดความอับอายในที่สาธารณะ กีดกันหรือขับไล่ออกจากกลุ่ม เป็นต้น
- (Physical Bullying) การกลั่นแกล้งทางกายภาพ คือ การกลั่นแกล้งทางด้านร่างกาย รวมไปถึงสวัสดิภาพต่าง ๆ ของผู้ถูกกลั่นแกล้ง เช่น การแย่งชิงสิ่งของ ทำร้าย ทุบตี แกล้งให้สะดุดล้ม แสดงความ
- (Cyber Bullying) การบูลลี่ทางโลกสื่อออนไลน์ ซึ่งนับว่าเป็นการแกล้งในวงกว้างกว่าในสถานที่อื่น เพราะคนสามารถเห็นได้ทั่วโลก
การบูลลี่ในโลก
จากการสำรวจข้อมูลการบูลลี่ผ่านอินเทอร์เน็ต ที่เรียกว่า Cyberbully พบว่า ในปีพ.ศ.2561 ประเทศอินเดียเป็นอันดับ 1 ถัดมาอีก 2 ปี คือ พ.ศ.2563 ประเทศญี่ปุ่น เป็นอันดับสูงสุด ในขณะที่ประเทศเกาหลีใต้เองก็มีการสูญเสียจาก Cyberbully เป็นอันดับต้น ๆ เช่นกัน ดังที่เรามักจะได้ยินข่าวศิลปิน นักแสดง หรือแม้แต่นักกีฬาเยาวชน ต้องจบชีวิตตนเองจากการถูกบูลลี่ โดยเฉพาะ Cyberbully
การบูลลี่ในประเทศไทย
ข้อมูลจากมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวเปิดเผยว่า เมื่อปี พ.ศ.2563 ประเทศไทยติดโผเป็นอันดับ 2 ของโลก ในด้านของ Cyberbully ซึ่งรองจากประเทศญี่ปุ่น และในปีเดียวกันนั้น Punch Up x Wisesight ได้กล่าวว่า สิ่งที่คนไทยมักใช้ในการบูลลี่กันนั้นมักจะเป็นในเรื่อง รูปร่าง เพศ ทัศนคติ ความคิด เช่น แก่ ขี้เหร่ ผอม เตี้ย ดำ สิว ใหญ่ จอแบน เหยิน กระเทย ตุ๊ด ขุดทอง เหม่ง โง่ สลิ่ม กะหรี่ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นการใช้ในระดับมัธยม ตั้งแต่มัธยมปีที่ 1 – 6 และใช้กันในกลุ่มเพื่อนมากที่สุด
วิธีการรับมือจากการโดนบูลลี่
กรมสุขภาพจิตได้แนะวิธีการรับมือสำหรับผู้ที่ถูกบูลลี่ไว้ 5 แนวทาง ดังนี้
- ไม่ตอบสนอง ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้งในรูปแบบใด ควรนิ่งเฉยใส่ เพราะการตอบสนองจะยิ่งกระตุ้นให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้นหรือแย่ลง
- ไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรงกลับ เพราะคดีอาจพลิกโผให้เรากลายเป็นผู้กระทำความผิด และเป็นจำเลยของสังคมแทน
- เก็บหลักฐานที่ถูกกลั่นแกล้ง การถูกบูลลี่ เพื่อปรึกษาผู้ปกครอง หรือเพื่อใช้ประกอบในการดำเนินคดี
- กรณีพบเห็นไซเบอร์บูลลี่ ควรรายงานต้นทางของสื่อโซเชียลมีเดีย
- เลิกยุ่งเกี่ยวหรือลบการติดต่อทุกช่องทาง เช่น ออกจากกลุ่ม ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยอีก บล็อคการติดต่อ เป็นต้น
การบูลลี่ไม่เพียงแต่จะสร้างความเจ็บช้ำและรอยแผลให้กับคนที่ถูกบูลลี่ แต่อาจสร้างความสูญเสียในอนาคตได้มากกว่าที่คิด เพราะจากประวัติของผู้ป่วยโรคจิต หรือนักโทษคดีร้ายแรงหลายคน มีสาเหตุมาจากถูกบูลลี่ในอดีตมาก่อน ดังนั้นในทุกสังคมควรมีการการปลูกฝังจิตสำนึกและทัศนคติที่ดีให้ตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะยาว แต่สำหรับในระยะสั้นนั้น คงต้องให้ผู้ถูกบูลลีใช้หลักของความ วางเฉย และ การอดทน ให้เป็นเกราะป้องกันตนเองให้มาก และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเองทั้งทางร่างกายและจิตใจในการก้าวข้ามผ่านไปให้ได้