ยุคของคนใส่ใจสุขภาพกำลังมาแรง หลายคนเริ่มหันมาดูแลสุขภาพของตนเองกันมากขึ้น ซึ่งมีทั้งการควบคุมอาหาร เพื่อให้ได้สารอาหารที่เหมาะสมกับร่างกาย และรวมไปถึงการลดน้ำหนัก เพื่อสุขภาพที่ดี และป้องกันโรคอื่น ๆ ที่อาจตามมาได้ในอนาคต วิธีลดน้ำหนักมีหลายรูปแบบด้วยกัน และหนึ่งในนั้นที่กำลังได้รับความนิยมขณะนี้ ต้องยกให้กับ การลดน้ำหนัก if
สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าการทำ if คืออะไร จะช่วยลดน้ำหนักได้จริงไหม และเมื่อทำ if กินอะไรได้บ้าง วันนี้เราจะมาแนะนำวิธีทำ if มือใหม่ทำได้ไม่ยาก แล้วคุณจะแปลกใจถึงผลลัพท์ที่ได้ กับ น้ำหนักที่หายไป แต่ได้สุขภาพดีกลับมาแทน
ลดน้ำหนักแบบ IF คืออะไร
ก่อนอื่นเรารู้ก่อนว่า การทำ if คือ การลดน้ำหนักในรูปแบบ Intermittent Fasting ซึ่งเป็นการลดน้ำหนักด้วยการอดอาหารเป็นช่วงเวลา มีการกำหนดช่วงเวลาการกิน แต่ไม่จำกัดประเภทอาหาร จากนั้นจะงดอาหารอีกช่วงเวลาหนึ่ง ไม่ใช่การอดอาหารตลอดทั้งวัน แต่จะกำหนดช่วงเวลาการกินเท่านั้น ทำให้ลดปริมาณและพลังงานที่ได้รับจากอาหาร ซึ่งในช่วงที่อดอาหาร ร่างกายจะหลั่งอินซูลินน้อยลง ทำให้การเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดเป็นไขมันลดลงตาม ส่งผลให้มีการกักเก็บไขมันใต้ผิวหนังน้อยลง : น้ำหนักลดหรือผอมลงนั่นเอง
การทำ IF เหมาะกับใคร
การลดน้ำหนัก if เป็นวิธีอดอาหารที่ปลอดภัย เพราะเป็นการอดอาหารตามช่วงเวลาที่กำหนดเท่านั้น โดยการใช้หลักให้ร่างกายดึงไขมันออกมาใช้มากขึ้น ไม่ได้อดอาหารทั้งวัน ช่วยลดการกินจุกจิก และไม่ได้กำหนดประเภทอาหารที่ต้องงด แต่เสมือนเป็นการบังคับทางอ้อมให้อดอาหารในบางมื้อ เช่น คนที่มักตื่นสาย หรือไม่ค่อยได้ทานอาหารเช้าอยู่แล้ว จึงมักจะไปเริ่มมื้อกลางวันเป็นมื้อแรก ดังนั้น การทำ if จึงเหมาะกับทุกคนที่ต้องการลดน้ำหนัก เพียงแต่เลือกรูปแบบให้แมทช์กับไลฟ์สไตล์ จะยิ่งช่วยให้การทำ if ทำได้อย่างราบรื่นมากขึ้น
การทำ IF มีกี่แบบ
วิธีการทำ IF สามารถเลือกให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนได้ ดังนี้
การอดอาหารแบบจำกัดช่วงเวลา (Time – restricted eating)
การอดอาหารแบบจำกัดช่วงเวลา เป็นวิธียอดฮิตของใครหลายคน และเหมาะกับผู้ที่เริ่มต้นทำ if มือใหม่ เนื่องจากการทำ if แบบนี้จะมีความยืดหยุ่นในเรื่องของเวลา สามารถเลือกช่วงเวลาที่ต้องการอดอาหาร และจัดสรรเวลาได้อย่างเป็นระบบ โดยรูปแบบที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย คือ วิธีทำ if 16/8 ซึ่งเป็นสูตรการอดอาหาร 16 ชั่วโมง และทานได้ปกติเพียง 8 ชั่วโมง โดยส่วนใหญ่ผู้ทำ if สูตรนี้ จะเลือกอดอาหารในช่วงกลางคืนไปจนถึงช่วงเที่ยงของอีกวัน นับไปให้ครบ 16 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงจะกินอาหารได้ตามปกติภายในช่วง 8 ชั่วโมง เช่น เริ่มจากกลางคืนไปจนถึง 12.00 น. ของอีกวัน จากนั้นเป็นเวลาทานอาหารไปจนถึง 19.00 น. แล้วหยุดการทานอาหารอีกครั้งหลังจาก 1 ทุ่มเป็นต้นไป จนกว่าจะครบ 16 ชั่วโมง หรือถึงเวลาเที่ยงของวันต่อไป เป็นต้น โดยในระหว่างช่วงเวลาอดอาหาร สามารถกินอาหารที่ไม่มีแคลอรี่ได้ เช่น การดื่มน้ำอุ่น หรือ กาแฟดำ
การอดอาหารแบบ 5:2 (The Twice-a-week method 5:2)
การอดอาหารแบบ 5:2 คือ การอดอาหารแบบ 2 วัน / สัปดาห์ โดยจะเลือกอดอาหารในแต่ละสัปดาห์เพียง 2 วันเท่านั้น และใน 2 วันนั้น จะต้องทานอาหารรวมกันให้ได้ 500 แคลอรี เช่น เลือกจะอดอาหาร if ในวันอังคาร และ วันพฤหัสบดี อาจทานอาหารให้ได้ 200 แคลอรีในวันอังคาร และ ในวันพฤหัสบดีอีก 300 แคลอรี หรือ วันละ 250 แคลอรี ในสองวันดังกล่าวก็ได้เช่นกัน
การอดอาหารแบบวันเว้นวัน (Alternate day fasting)
การอดอาหารแบบวันเว้นวัน คือ การอดอาหารสลับวันกับทานอาหารตามปกติ เช่น วันนี้ทานอาหารตามปกติ วันต่อไปจะต้องทานอาหารโดยจำกัดปริมาณแคลอรีไม่เกิน 500 แคลอรี / วัน
การอดอาหารแบบทั้งวัน (Eat stop eat)
การอดอาหารแบบ 24 ชั่วโมง คือ การอดอาหารตลอดทั้งวัน โดยจะใช้การนับระยะเวลาเป็นหลัก เช่น อดอาหารตั้งแต่มื้อเช้าวันนี้ ไปจนถึงมื้อเช้าในวันถัดไป เพื่อให้ครบตามเวลากำหนด ซึ่งส่วนใหญ่คนทำ if จะทำกันประมาณ 1-2 ครั้ง / สัปดาห์ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับสุขภาพมากเกินไป เพราะวิธีทำ if แบบนี้ มีผลเสียต่อสุขภาพได้มากที่สุด และอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ หงุดหงิดง่าย อ่อนเพลีย ง่วงนอนบ่อย ขาดสมาธิ อาจทำให้ร่างกายอ่อนล้า จนทนความหิวไม่ไหว อาจกินมากขึ้นกว่าเดิมในมื้ออาหารได้
การอดอาหารหนักแบบ The Warrior Diet
การอดอาหารแบบ The Warrior Diet คือ การอดอาหารในช่วงกลางวัน โดยสามารถดื่มน้ำเปล่าได้เท่านั้น จากนั้นจะกลับมาทานอาหารในช่วงมื้อค่ำได้เพียงมื้อเดียว
การอดอาหาร Fast 5
การทำ if fast 5 คือ การอดอาหารแบบหักดิบ ถือว่าเป็นวิธีทำ if ที่ไม่เหมาะกับผู้ที่เพิ่งทำ if มือใหม่ เนื่องจากสามารถทานอาหารได้เพียงแค่ 5 ชั่วโมงเท่านั้น จากนั้นจะต้องอดอาหารอย่างต่อเนื่องให้ครบ 19 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการลดน้ำหนัก IF จะเป็นวิธีอดอาหารที่ปลอดภัย และเหมาะกับคนที่ต้องการลดน้ำหนักทุกคน แต่ก็มีอีกหลายคนที่ไม่ควรใช้วิธีการทำ IF คือ คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำ จนอาจทำให้เกิดอาการช็อคได้ หรือ ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ อาจจะยิ่งทำให้เกิดแผลในกระเพาะมากขึ้น รวมไปถึงคนที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดมาใหม่ หรือผู้ที่อยู่ในช่วงพักฟื้น เพราะร่างกายต้องการอาหารครบถ้วน อาจทำให้ขาดสารอาหารบางชนิดได้ ดังนั้น ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือไม่แน่ใจว่าตนเองสามารถทำ if ได้หรือไม่ ควรทำการปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เพื่อให้การทำ IF เกิดประโยชน์ด้านสุขภาพอย่างแท้จริง