Six Jars Money Management หรือการเก็บเงิน 6 กระปุก เป็นวิธีจัดการการเงิน แบ่งออกเป็น 6 ส่วน โดยการบริหารเงิน คือ การวางแผนการจัดระเบียบ และควบคุมระบบการเงิน ให้ตรงกับกิจกรรมในแต่ละส่วน เช่น กลุ่มเงินสำหรับการลงทุน กลุ่มเงินสำหรับค่าใช้จ่าย กลุ่มเงินสำหรับเก็บออม เป็นต้น ซึ่ง 6 Jars System เป็นหนึ่งในการบริหารเงินเก็บที่คิดค้นโดย T. Harv Eker นักคิดด้านการเงินการลงทุน เป็นนักพูดที่มีชื่อเสียง และยังเป็นเจ้าของหนังสือ Secrets of the Millionaire Mind ซึ่งมีใจความสำคัญเกี่ยวกับทฤษฎีการแบ่งรายได้ที่ได้รับทั้งหมดต่อเดือนออกเป็น 6 ส่วน โดยมีโหลเป็นสัญลักษณ์แทนในแต่ละส่วน และทุกส่วนนั้นจะมีเปอร์เซนต์ในการแบ่งรายได้ที่แตกต่างกันออกไป เราไปทำความรู้จักกฎการเงินที่กล่าวถึงนี้กันดีกว่า
การจัดการเงินตามทฤษฎี Harv Eker’s 6 Jars
โหลใบที่ 1 สำหรับความจำเป็น
55% ของรายได้ทั้งหมด จะถูกจัดการเงินเป็นส่วนที่แบ่งไว้สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำมันรถ ค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าห้อง รวมไปถึงค่าหนี้สินต่างๆ
โหลใบที่ 2 สำหรับการลงทุน
10% ของรายได้ทั้งหมด แบ่งไว้สำหรับการลงทุนเพื่อความมั่นคงทางการเงินยามเกษียณ แน่นอนล่ะว่าการลงทุนในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นกองทุน หุ้น การซื้อสินทรัพย์เพื่อเก็งกำไร ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ การฝากเงินธนาคาร สลากออมสิน การซื้อสกุลเงินต่างๆ
โหลที่ 3 สำหรับรางวัลชีวิต
เป็นส่วนรางวัลให้กับชีวิต เพื่อเป็นการตอบแทนตัวเองที่ทำงานหนัก และต้องฟันฝ่าอุปสรรคในแต่ละเดือน ด้วยการแบ่งเงิน 10% ของรายได้ ในการใช้จ่ายส่วนตัว ช้อป กิน เที่ยว เปย์ให้ตัวเองได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องพะวงว่าจะกระทบกับวงเงินในส่วนอื่นๆ
โหลที่ 4 สำหรับการเพิ่มสกิลให้กับตัวเอง / แสวงหาความรู้
แบ่งเงิน 10% ของรายได้ เพื่อหาความรู้ใหม่ๆ เป็นการอัพสกิลให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหนังสือ การเข้าคลาส เวิร์กช็อป หรือการสัมมนา สำหรับการหาความรู้ใหม่ๆที่ตัวเองสนใจ หรืออาจเพิ่มความรู้ที่เดิมมีอยู่แล้ว ให้เก่งมากขึ้น เป็นการอัพเลเวลขึ้นไปอีก ซึ่งสิ่งที่คุณจะได้ อาจเพื่อเป็นการผ่อนคลาย หรือไม่แน่ว่า สิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับคุณในอนาคต
โหลที่ 5 สำหรับการให้และแบ่งปัน
5% ของรายได้ เพื่อการแบ่งปัน ในรูปแบบของทำบุญ ร่วมสร้างกุศลทางศาสนา การบริจาคช่วยเหลือองค์กรการกุศลต่างๆ หรือการซื้อของแจกจ่ายแก่ผู้ยากไร้ และยังรวมไปถึงการซื้อของขวัญพิเศษให้กับคนที่รักหรือคนใกล้ชิด
โหลที่ 6 สำหรับการออม (เงินสำรองฉุกเฉิน)
การแบ่งเงิน 10% ของงบการเงินได้ทั้งหมด สำหรับการออมเงินไว้สำรองเป็นค่าใช้จ่ายในระยะยาว เช่น ค่าการศึกษาของบุตรธิดา ซื้อบ้าน เบี้ยประกันชีวิต ต่อประกันรถยนต์ เป็นต้น เพราะถ้ามีการเก็บออมอย่างต่อเนื่อง เมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่าย จะได้ไม่ขัดสน หรือต้องไปหยิบยืมใครให้เป็นหนี้
ซึ่งทั้ง 6 ข้อนี้จะเป็นทฤษฎีการเก็บเงินที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ทีนี้เรามาดูการจัดการเรื่องเงินในแบบอื่นๆ ที่แยกข้อย่อยและแบ่งออกตามสถานะและช่วงวัยกันบ้าง
ก่อนอื่นเราไปดูถึงเรื่องจัดการเงินรับและเงินออมกันสักหน่อย
วิธีจัดการเงินให้เพียงพอต่อการใช้
- หาเงินให้มากกว่าที่ใช้
- เมื่อมีเงินเข้ามา ให้แบ่งเก็บทันที
- ออมเงินอย่างน้อย 1 ใน 4 ของรายได้ที่เข้ามา
- แบ่งรายรับเป็นส่วนๆ ใช้จ่ายตามจุดประสงค์ที่แบ่งไว้
- ทำบัญชีเพื่อจัดการเงินที่ควรรู้
เตรียมพร้อมเผื่อฉุกเฉิน
- แบ่งเงินเก็บไว้เป็นเงินสำหรับฉุกเฉิน เช่น การเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ตกงาน
- แยกบัญชีเงินออมเผื่อฉุกเฉินจากบัญชีอื่นๆ ใช้เป็นบัญชีออมทรัพย์ที่สามารถถอนนำมาจ่ายได้สะดวก
- แบ่งเข้าบัญชีเงินฉุกเฉิน 3-6 เท่า ของรายได้
- เมื่อมีความจำเป็นต้องนำไปใช้เท่าไร ก็ต้องเก็บออมในส่วนที่นำไปใช้ให้เท่าเดิม และเพิ่มในส่วนของใหม่ตามปกติ โดยไม่นับรวมกัน
นอกจากนี้การเก็บเงินฉบับคนโสดและคนมีคู่ก็ยังมีข้อย่อยแตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อยดังนี้
วิธีการเก็บเงินแบบคนมีคู่
สำหรับคนมีคู่ หรือแต่งงานมีครอบครัวแล้ว การเก็บออมเงินอาจแยกกระเป๋ากัน หรือเป็นบัญชีร่วมกัน แต่ส่วนใหญ่หากเป็นครอบครัวแล้ว มักจะมีการเก็บและใช้จ่ายร่วมกัน แต่นั่นก็ต้องมีการคุยและทำการตกลง เพื่อเข้าใจตรงกันและป้องกันปัญหาที่อาจจะตามมาภายหลังได้ ซึ่งจะต้องเริ่มจาก…
- คุยกันแต่เนิ่นๆ ถึงภาระหนี้สินของแต่ละคนที่มีอยู่ เพื่อทำการตกลง ว่าจะทำการแยกหรือรวมบัญชีรับผิดชอบร่วมกัน
- เลือกวิธีที่เหมาะสมกับคู่หรือครอบครัวของตน (เพราะไม่มีสูตรหรือทฤษฎีตายตัว)
- หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำไม่ได้ตามข้อตกลง ให้เปิดใจคุยกันและหาวิธีการแบ่งเงินเก็บกันใหม่
ตั้งกฏการเงินสำหรับคนโสด
แม้ว่าจะเป็นคนโสด ไม่มีภาระใดๆ แต่ก็ไม่ควรประมาทเรื่องการเงิน ยิ่งเป็นการดีที่จะสามารถเก็บเงินได้เต็มที่ และเผื่อเป้าหมายในอนาคต ไม่ว่าจะอยากท่องเที่ยว หรือกรณีตกงาน ก็ยังมีเงินไว้ใช้จ่าย และยังมีเงินสำรองไว้ใช้หลังจากเกษียณ หรือป่วยไข้ ไม่สบาย ไม่มีเรี่ยวแรงทำงานเหมือนตอนหนุ่มสาวก็ยังมีเงินไว้ใช้จ่ายประจำวันได้อย่างไม่ขัดสน
เมื่อพูดถึงการเกษียณ เรามาดูเรื่องการเก็บเงินเพื่อเตรียมตัวสำหรับอนาคตในวัยเกษียณกันดีกว่า
เตรียมตัวเกษียณ
การวางแผนการเงินในปัจจุบันตั้งแต่เริ่มทำงาน จะส่งผลให้ปลายทางเมื่อถึงเวลาเกษียณ มีเงินไว้ใช้จ่ายได้อย่างไม่ลำบาก และไม่ต้องพึ่งใคร โดยจะต้องมีการวางแผนตามนี้
- คำนวณเงินที่ควรมี : ค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน x 12 (เดือน) x จำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตหลังเกษียณ
- เช็คเงินออมสำหรับการเกษียณที่มีอยู่ เพื่อจะได้รู้ว่าจะต้องเก็บออมอีกเท่าไร
- หากมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็เพิ่มเงินออมสำหรับการเกษียณมากขึ้นตาม
- ตรวจสอบและหมั่นเช็คยอดจำนวนเงินออม เพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย และป้องกันยอดเงินรั่วไหลโดยไม่รู้ตัว
- เตรียมเงินก้อนเผื่อค่าใช้จ่ายกระทันหันที่ไม่คาดคิด เช่น ค่าซ่อมรถ ค่าซ่อมบ้าน เป็นต้น
- ควบคุมค่าใช้จ่ายด้วยการจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย
- แบ่งเงินของส่วนการใช้จ่ายไว้ในบัญชีออมทรัพย์
- กระจายการลงทุน เพื่อลดความเสี่ยง และเพิ่มสภาพคล่อง เพื่อให้มีรายได้ไว้สำหรับในการใช้จ่ายเมื่อต้องการ
- ทำพินัยกรรมส่งต่อทรัพย์สินให้คนที่รัก เพราะเราไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้ และถ้าเกิดอะไรขึ้น คนที่เรารักจะได้ไม่ลำบาก
จะเห็นได้ว่าการเก็บเงินแบบที่กล่าวมาทั้งหมด ก็มีเนื้อหาที่ตรงกับหลักของ 6 Jars T. Harv Eker หรือการกจัดการการเงินแบบ 6 กระปุกและทฤษฎีนี้ก็ไม่ได้มีสัดส่วนที่จะต้องยึดตามเป๊ะจนเกินไป เพราะค่าใช้จ่ายในแต่ละบุคคลก็แตกต่างกัน แต่สามารถปรับให้เข้ากับรายได้จริง เพื่อให้มีเงินเก็บเงินออมไว้ใช้ยามจำเป็น โดยไม่ลำบากหรือต้องเป็นหนี้ใคร และอย่าลืมว่า เก็บก่อน รวยก่อน!
1 comment
Comments are closed.