“รถเฮี๊ยบ” อาจเป็นคำคุ้นของใครหลายคน และสำหรับผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการใช้งานรถเครนประเภทต่าง ๆ ย่อมทราบกันดีอยู่แล้วว่า รถเฮี๊ยบ เป็นชื่อเรียกรถเครนชนิดหนึ่ง แต่ทำไมจึงเรียกว่ารถเฮี๊ยบ รถเฮียบมาจากไหน ใครเป็นผู้นำเข้ารถเฮี๊ยบเข้ามาใช้งานในเมืองไทย การใช้งานรถเฮี๊ยบยกได้กี่ตัน และรถเฮี๊ยบกับรถเครนต่างกันยังไง ในบทความนี้ Invivo-environnement จะพาทุกคนไปรู้จักว่าจริง ๆ แล้ว รถเฮี๊ยบคืออะไร และเหมาะที่จะนำไปใช้กับงานประเภทใดกันแน่
รถเฮี๊ยบคืออะไร
รถเฮี๊ยบ คือ รถบรรทุกติดเครนชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นรถบรรทุกที่ติดเครื่องทุ่นแรง ซึ่งก็คือ “เครน” หรือ “ปั้นจั่น” ชนิดหนึ่ง มักเรียกกันติดปากว่า รถเฮี๊ยบ ภาษาอังกฤษเรียกเครนติดรถบรรทุกชนิดนี้ว่า “Truck Loader Crane” หรือ “Cargo crane” มีลักษณะเหมือนรถบรรทุกทั่วไป แต่มีการติดตั้งเครนอยู่ด้านหลังของรถ สามารถปรับระดับขึ้น – ลงได้ ช่วยอำนวยความสะดวกในการยก หรือการขนย้ายสิ่งของ และรถเฮี๊ยบบางประเภทก็มีกระเช้าให้ใช้งานด้วยเช่นกัน มีความแข็งแรง รองรับน้ำหนักได้มาก ทนทานต่อการใช้งานได้ดี เพิ่มความรวดเร็วในการขนย้าย มักนิยมใช้งานรถเฮี๊ยบ 6 ล้อ หรือ รถเฮี๊ยบ 10 ล้อ และ 12 ล้อ
รถเฮี๊ยบ ภาษาทางการเรียกว่าอะไร
โดยปกติ รถเฮี๊ยบ ภาษาทางการจะเรียกว่า รถบรรทุกติดเครน แต่ที่มาที่ไปของคำว่า “เฮี๊ยบ” มาจากชื่อแบรนด์ของรถบรรทุกติดเครนรายแรกที่นำเข้ามาขายในไทย ทำให้ใครหลายคนยังคงเรียกติดปากว่ารถเฮี๊ยบ เหมือนกับผงซักฟอก ที่เมื่อก่อนคนส่วนใหญ่จะเรียกว่า “แฟ้บ” หรือเรียกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปว่า “มาม่า” นั่นเอง โดยถิ่นกำเนิดของรถเฮี๊ยบมาจากประเทศสวีเดน ได้มีการนำเข้าประเทศไทย โดยใช้ชื่อสินค้าในนามบริษัท Hydrauliska Industri AB ประเทศสวีเดน
รถเฮี๊ยบมีขนาดใดบ้าง
รถเฮี๊ยบ (Hiab) หรือ ขนาดรถบรรทุกติดเครนทั่วไป ที่เรามักจะเห็นใช้งานกันบ่อย ๆ มีตั้งแต่ขนาด รถเฮี๊ยบ 3 ตัน 5 ตัน 6 ตัน 8 ตัน 10 ตัน และ รถเฮี๊ยบติดกระเช้าสูง 18 เมตร
รถเฮี๊ยบเหมาะกับงานประเภทใด
รถเฮี๊ยบ เป็นรถขนาดใหญ่ มีความแข็งแรง ทนทานต่อการใช้งาน รองรับการบรรทุกสิ่งของที่มีขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักมาก ๆ ตั้งแต่ 3 ตัน 5 ตัน ไปจนถึงขนาด 10 ตัน ที่ไม่สามารถใช้แรงงานคนยกได้ เนื่องจากรถเฮี๊ยบสามารถปรับระดับความสูง – ต่ำได้ จึงช่วยเพิ่มความรวดเร็ว และสะดวกต่อการยก บรรทุกสินค้า การย้ายสิ่งของ หรือช่วยในงานก่อสร้าง เช่น วัสดุก่อสร้าง เหล็ก หิน ปูน อิฐ เครื่องจักรขนาดใหญ่ ท่อน้ำ กระจก และอุปกรณ์ต่าง ๆ หรือจะใช้เป็นเครนยกของ เช่น ตู้คอนเทนเนอร์ โครงหลังคา ถังน้ำมัน ม้วนสายไฟ ยกต้นไม้ขนาดใหญ่ หรือใช้ร่วมกับรถกระเช้าสำหรับงานติดตั้งต่าง ๆ เช่น การติดตั้งป้าย หรือ ติดตั้งกระจก เป็นต้น
วิธีการใช้งานรถเฮี๊ยบ
การใช้งานรถเฮี๊ยบให้มีความปลอดภัย ควรมีการศึกษาข้อมูล จากคู่มือการใช้งานให้เข้าใจอย่างละเอียด เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากการใช้งานไม่ถูกวิธี และเพื่อให้สามารถรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในขณะใช้งานรถเฮี๊ยบได้ จึงควรทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
- ศึกษาข้อมูลจากคู่มือการใช้งาน รวมถึงขั้นตอนการดูแลรักษารถเฮี๊ยบให้เข้าใจอย่างละเอียด
- ควรมีคู่มือการใช้งานติดไว้ในตัวรถตลอดเวลา
- ตรวจสอบความพร้อมในการใช้งานของอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น โซ่ สลิง ตะขอยก ให้แน่ใจว่าไม่หย่อนหรือหลวม
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าสลิง รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ใส่ในตะขอยกที่มีสลักนิรภัย Safety Latch คือ ตัวล็อคสลิง หรือลิ้นล็อคกันหลุด ป้องกันไม่ให้สลิงตก (มีลักษณะเป็นปากเกี่ยวตะขอ ผลิตจากเหล็กที่มีความแข็งแรงและทนทานต่อการรองรับน้ำหนัก)
- ตรวจสอบอุปกรณ์ช่วยยก และวัสดุที่จะยก ต้องมีน้ำหนักไม่มากกว่าพิกัดรอกและตัวรถเฮี๊ยบ
- ต้องใช้หูยก ยกของเสมอ
- ตำแหน่งของที่จะยกต้องอยู่ในแนวดิ่งเท่านั้น
- ห้ามยกของในขณะที่มีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในไซต์งาน
- ควบคุมเครื่องจักรด้วยความระมัดระวัง
- ไม่ควรโยนหรือปล่อยของลงด้วยความรุนแรง เพราะอาจเกิดอุบัตเหตุได้
รถเฮี๊ยบกับรถเครนต่างกันอย่างไร
รถเฮียบหรือรถบรรทุกติดเครน คือ หนึ่งในประเภทของรถเครนเคลื่อนที่ หรือที่เรียกว่า Mobile Crane โดยรถเฮี๊ยบเป็นชื่อเรียกของเครนติดรถบรรทุก จึงกล่าวได้ว่า รถเฮี๊ยบและรถเครนไม่มีความต่างชนิดกัน โดยประเภทรถเครนเคลื่อนที่ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
- รถเครนบรรทุก หรือ ที่เรียกว่า รถเฮียบ นั่นเอง
- รถเครนตีนตะขาบ (Crawler Crane)
- รถเครน 4 ล้อ (Rough Terrain Crane)
- รถเครนล้อยาง (All Terrain Crane)
ปัจจุบัน การใช้งานรถบรรทุกติดเครนหรือรถเฮียบ ไม่ได้มีเพียงแค่ในไซต์งานก่อสร้างเท่านั้น แต่ยังมีการใช้รถเฮี๊ยบในการขนบรรทุก หรือย้ายสินค้าเชิงพาณิชย์ ทำให้เหล่ากิจการหรือองค์กรธุรกิจต่าง ๆ เลือกเช่ารถเฮี๊ยบราคาถูก หรือใช้บริการรถเครนให้เช่าราคาไม่แพง แทนการใช้รถรับจ้างขนาดเล็ก ที่อาจต้องเช่าจำนวนมากหรือขนย้ายหลายเที่ยว ทำให้เสียเวลา รวมไปถึงความรวดเร็วในการยก หรือการขนย้ายสินค้า อีกทั้งยังมีให้เลือกหลายขนาด เพื่อให้เหมาะสมต่อการใช้งาน เพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น