เราเป็นคนหนึ่งที่ชอบอ่านหนังสือ แต่มีหนังสือประเภทหนึ่งที่เราไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไหร่ คือหนังสือประเภท self-help หรือแนวสอนชีวิต พัฒนาชีวิต อะไรแบบนี้ เพราะเรารู้สึกว่าเราเชื่อมต่อกับคนเขียนไม่ได้ ไม่ได้รู้สึกอินไปกับมัน แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้เจอกับหนังสือเรื่อง The Subtle Art of Not Giving a F*ck ของ Mark Manson และบอกเลยว่าซื้อเพราะชื่อหนังสือจริงๆ
เมื่อได้อ่านแล้วเราก็รู้สึกชอบสไตล์การเล่าเรื่องของนักเขียนมากๆ เขาสามารถเขียนตัวหนังสือในหมวดพัฒนาตนเองได้แบบที่เราไม่รู้สึกว่าโดนสั่งสอนอยู่เลยซักนิด เหมือนมาเล่าเรื่องราวของชีวิตให้ฟัง สิ่งที่เขาเคยประสบและได้เรียนรู้ อีกทั้งเขายังพูดถึงสภาพจิตใจของผู้คนโดยที่เราไม่ได้รู้สึกว่าเขาจะย้ำว่าเป็นความผิด และเข้าถึงได้ดีมากๆ
และนี่คือ 5 อย่างที่เราได้เรียนรู้จากหนังสือ The Subtle Art of Not Giving a F*ck
1. ชีวิตมันก็เฮงซวยแบบนี้แหละ ไม่เป็นไรนะ
หัวข้อนี้แหละที่ตรงที่สุดแล้ว เพราะทุกคนก็รู้อยู่แล้วแหละว่าชีวิตเราไม่ได้ราบรื่นกันทุกคน มันดีบ้างร้ายบ้าง บางทีก็ไม่สดใสเท่าไหร่ บางทีเราก็รู้สึกเศร้า ร้องไห้แทบตาย
แต่เรื่องดีก็คือมันทำให้เราได้ตระหนักว่า ไม่ใช่แผนทุกแผนจะดำเนินไปอย่างตามต้องการ มันจะผิดพลาดแน่นอน ผู้คนจะทำให้เราผิดหวัง เรื่องแย่ๆ จะเกิดขึ้น แต่พอมีเงามันก็แสดงว่ามันมีแสง! ถ้ามันมีเรื่องเลวร้าย มันก็ต้องมีเรื่องดีๆ เช่นกัน มันคือเรื่องปกติจริงๆ ไม่ใช่แค่คุณหรอกนะ
อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ความเจ็บปวดหลีกเลี่ยงไม่ได้
หนังสือสอนใจหลายเล่มมักกล่าวว่า “ถ้าหากคุณคิดบวกเข้าไว้ เรื่องดีๆ จะเกิดขึ้นเอง” แต่เอาจริงเหมือนคุณ มาร์ก แมนสัน จะไม่ได้คิดแบบนั้นซะทีเดียว เพราะเขาโต้ว่าวิธีการคิดแบบนี้มันอาจทำให้เราพลาดในการคิดแก้ไขปัญหา เรากำลังหนีปัญหาอยู่ และสุดท้ายความเจ็บปวดจะไม่หายไป
ไม่ว่าเราจะคิดหนทางที่คิดว่าครอบคลุมทุกปัญหา หลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิด แต่สุดท้ายมันก็จะมีปัญหาเกิดอยู่ดี ดัังนั้น ไม่ใช่ว่าไม่ต้องคิดทางแก้ไว้ก่อน แต่เมื่อปัญหาเกิด ความเจ็บปวดเกิดขึ้น สิ่งที่เราควรทำคือมองหาทางแก้ใหม่ และให้ความเจ็บปวดนั้นเป็นประสบการณ์ให้กับเราดีกว่าจะมองข้ามมันไป
“ความต้องการที่จะได้รับผลลัพธ์ด้านบวก จะทำให้เราได้รับประสบการณ์ด้านลบ
ในทางขัดแย้งกัน หากเราเลือกที่จะยอมรับประสบการณ์ด้านลบ มันจะกลายเป็นผลลัพธ์ด้านบวกในที่สุด
(The desire for a more positive experience is for itself a negative experience. And, paradoxically, the acceptance of one’s negative experience is itself a positive experience.)” – Mark Manson
2. เมื่อเรากรองสิ่งที่สำคัญจริงๆ ต่อเรา เราจะมีเรื่องให้กังวลน้อยลง
เมื่อเราอ่านเจอประเด็นนี้ ความคิดแรกที่ผุดมาในหัวเลยก็คือ “ทำไมเราไม่เคยคิดถึงมันมาก่อนนะ” เพราะจริงๆ ตามตัวอักษร เพราะเหมือนเราให้ความสำคัญกับทุกสิ่งอย่าง ทำให้เรามีความกังวลกับทุกสิ่งอย่าง
ชีวิตของเราแต่ละคน มีอะไรที่ต้องห่วง มีอะไรที่เราให้ความสำคัญแตกต่างกันไป มันส่งผลทำให้เรามองโลกแตกต่างกันไป ความสำเร็จของคุณเป็นอย่างไร ความล้มเหลวล่ะ ข้อดีข้อด้อยต่างๆ บางคนก็ให้ความสำคัญกับเรื่องราวมากมาย เพราะคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับต่อผู้อื่นและต่อตัวเอง แต่นั่นทำให้ในบางครั้ง สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากมายนั่นแหละอาจจะทำให้เราตัดสินใจพลาด หรือไม่ทันการณ์ กว่าจะรู้ว่าอะไรที่สำคัญจริงๆ มันก็สายไปเสียแล้ว
การเผชิญหน้ากับความท้าทายอาจกลายเป็นความสุขอย่างหนึ่ง
สิ่งยากๆ หนักหนาสาหัสมันจะรอคอยเราอยู่ทุกย่างก้าว และเมื่อเราไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น เราก็ทำได้แค่ยอมรับและเผชิญโชคของเราไป บางทีคุณอาจได้เรียนรู้จากสิ่งยากๆ เหล่านั้นก็ได้ บางทีกว่าคุณจะรู้ตัว เรื่องราวๆ ดีๆ ก็อาจเกิดขึ้นแล้วก็เป็นได้นะ
3. คุณไม่ได้เป็นข้อยกเว้น
บางทีสำหรับหลายๆ คนน่าจะกำลังคิดว่าตัวเองมีอะไรบางอย่างที่พิเศษ บางอย่างที่ไม่เหมือนคนอื่นๆ อยู่ ไม่ว่าคุณจะกำลังคิดว่า เพราะสิ่งนั้นเลยทำให้ตัวเองเหนือกว่า หรือเพราะสิ่งนั้นทำให้ตัวเองด้อยกว่าอยู่ก็ตาม ความจริงก็คือ คุณไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นๆ เลย มีคนอีกจำนวนมากที่กำลังมีความคิดเช่นเดียวกับคุณ
ที่คุณกำลังรู้สึกว่า “แตกต่าง” บางทีอาจเกิดขึ้นได้หลักๆ จาก 2 เหตุผล นั่นก็คือ ถ้าไม่ใช่ว่าคุณมีความมั่นใจสูง คุณก็มีความมั่นใจต่ำมากๆ เพราะไม่ว่ามันจะเป็นสิ่งไหนมากกว่ากัน ปลายทางของมันคือทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น หากคุณเป็นคนผอม และรู้สึกว่าจีบใครก็ไม่ติด คุณก็จะเริ่มคิดว่าเพราะคุณผอมยังไงล่ะ ไม่มีกล้ามโตแบบคนที่เขาชอบ ในขณะที่อาจจะลืมมองปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย
คุณมาร์กก็เลยโต้ว่า จริงๆ หากเราสามารถมองสิ่งแย่ๆ ต่างๆ ในชีวิตได้ เพียงแค่เราเริ่มที่จะมองเห็นสิ่งเหล่านั้น แค่นั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นให้คุณรู้สึกถึงคุณค่าของตัวเองเพิ่มขึ้นจากเดิมแล้ว
จริงอยู่ว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิดว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรานั้นเป็นเรื่องพิเศษ มันทำให้เราพิเศษกว่าคนอื่นๆ แต่มันก็อาจจะแปลกๆ ถ้าทุกคนพิเศษแล้วสรุปแล้วคำว่าพิเศษคืออะไร หรือเราพิเศษกว่าทุกคนจริงๆ คนอื่นต้องด้อยกว่าหรือเปล่า หรือจริงๆ แล้วทุกคนมีสิ่งพิเศษในตัวเอง และถ้าทุกคนพิเศษ นั่นก็แปลว่าเราไม่ได้ด้อยกว่าใครเลยจริงไหมล่ะ?
4. ทุกๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตคุณเป็นความรับผิดชอบของคุณ
ไม่ใช่ว่าเราต้องรับผิดชอบในทุกๆ เรื่องหรอกนะ แค่เฉพาะเรื่องที่เกิดขึ้นกับคุณเท่านั้น และการรับผิดชอบมันก็แตกต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์ด้วย
หากเราลองนึกดูดีๆ เกือบทุกๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรา มีการตัดสินใจของเราร่วมด้วยเสมอ ยิ่งเราตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นได้เร็วเท่าไหร่ เราก็จะยอมรับและตัดสินใจทำอะไรซักอย่างได้เร็วเท่านั้น และทุกๆ การตัดสินใจของเราก็สามารถผิดพลาดได้ แต่นั่นก็คือทางเลือกของเรา หากเราไม่พอใจกับผลลัพธ์ของมันก็ไม่เป็นไร เพราะอย่างไรก็ตามเราไม่มีทางรู้ว่าสิ่งที่เราทำมันจะดีหรือไม่ดี มีแต่ทำกับไม่ทำเท่านั้น หากไม่ทำก็จะเป็น 0 ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
และสิ่งที่คุณให้ความสำคัญในข้อ 2 ก็จะพัฒนาทักษะการตัดสินใจของเรามากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เรามีสิทธิ์เต็มร้อยสำหรับทางเดินของเรา และเซ็นสัญญารับผิดชอบเต็มร้อยกับการตัดสินใจนั้นไปพร้อมๆ กัน
5. คุณกำลังจางหายไป ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ยอมรับเสียดีกว่า
เราทุกคนมีแนวโน้มว่าจะกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องการจากไป ไม่ว่าจะทางร่างกาย หรือในจิตใจของผู้คน บางคนพยายามไม่คิดถึงมัน ในขณะที่บางคนก็กำลังคิดถึงมันมากเกินไป
ไม่ว่าคุณกำลังนึกถึงคอนเซปต์การจางหายไปในรูปแบบใดก็ตาม ในท้ายที่สุดมันก็จะเกิดขึ้น บางทีคุณอาจไม่ได้นึกถึงมันด้วยซ้ำตอนสิ่งนั้นกำลังเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดบาปอะไรทั้ง 2 แนวคิด แต่สำหรับบางคน การคิดถึงการจางหาย ทำให้พวกเขาไม่ได้อยู่กับปัจจุบันเท่าที่ควรจะเป็น
เพราะคุณกลัวว่าผู้คนจะลืมคุณ คุณจึงทำทุกวิถีทางเพื่อให้ถูกจดจำได้ แต่สุดท้ายแล้วเรากำลังทำเพื่อตัวเองจริงๆ หรือกำลังทำเพื่อใครอยู่ เรากลัวความตายมากจนเกิดลืมไปว่าตัวเองกำลังมีชีวิตอยู่ ลืมว่าตอนนี้เราสามารถควบคุมชีวิตของเราได้ และหากคุณไม่ได้สนใจชีวิตตัวเอง คุณจะสนใจเรื่องอะไรมากกว่านี้ได้อีก?
มาร์ก แมนสัน จะไม่อ่อนโยนต่อคุณมากนักในหนังสือเล่มนี้ บางทีก็อาจดูฮาร์ดคอร์ไปซักหน่อยด้วย แต่เราก็อยากแนะนำให้ทุกคนได้ลองอ่าน คุณอาจจะได้อะไรมากกว่านี้ หรือพออ่านเต็มๆ แล้วความคิดต่อประเด็นเหล่านี้ก็อาจจะเปลี่ยนไป ยิ่งดีไปกว่านั้นหากคุณอ่านแล้วสามารถหาข้อโต้แย้งในหนังสือ ไม่ใช่แค่เล่มนี้ แต่กับทุกๆ สถานการณ์ เพราะสุดท้าย เราไม่ได้อ่านเพื่อหาสิ่งถูกหรือสิ่งผิด เราอ่านเพื่อเพิ่มการรับรู้ให้กับตัวเองต่างหากที่สำคัญ