ทุกองค์กรย่อมมีการขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นการขัดแย้งระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง หรือความขัดแย้งของคนทำงานระดับเดียวกัน เพราะการทำงานร่วมของคนที่มาจากต่างที่ต่างถิ่น ย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก และต่อให้แก้ไขอย่างไรก็ไม่เคยหมดไปจากองค์กรได้อย่างถาวร ถึงแม้ว่าจะแก้ไขไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็สามารถลดความขัดแย้งก่อนที่จะลุกลามจนถึงขั้นรุนแรงลงได้ แล้วการบริหารความขัดแย้งในองค์กรต้องทำอย่างไร? เรามีวิธีมาแนะนำค่ะ
5 วิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งในองค์กร
- เปิดใจยอมรับ เพื่อหาสาเหตุของปัญหา
ไม่ว่าที่ไหนย่อมหนีความขัดแย้งไม่พ้น เพราะแม้แต่คนในครอบครัวเดียวกัน ยังมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน มีความขัดแย้งและทะเลาะกันได้ ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจให้ได้ว่า ปัญหาสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะความคิดเห็นของทุกคนมักจะแตกต่างกันได้ จึงควรรู้จักการบริหารเวลาให้เหมาะสม เพื่อหาสาเหตุของปัญหาให้เจอก่อน เพื่อจะได้หาทางแก้ไขให้ตรงจุด ไม่ควรเพิกเฉยหรือหนีปัญหา เพื่อแค่ให้มันจบ ๆ ไปในเวลานั้น เพราะจะยิ่งทำให้ปัญหาเกิดการสะสม หากความขัดแย้งภายในองค์กรไม่ได้รับการแก้ไขในทันที อาจเป็นจุดเริ่มต้นของ “น้ำผึ้งหยดเดียว” ที่ปัญหาเล็ก ๆ กลายเป็นเรื่องใหญ่และรุนแรงขึ้นจนยากจะแก้ไขได้ในอนาคต
- เจรจาด้วยเหตุผล โดยไม่ใช้อารมณ์
การสื่อสารเป็นหัวใจสำคัญของการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานเป็นทีม หรืองานที่ต้องทำร่วมกับผู้อื่น แต่เมื่อจะเริ่มบทสนทนาหรือเจรจาใด ๆ ก็ตาม ควรเป็นการสื่อสารที่ตรงไปตรงมา แต่อยู่ภายใต้ความมีเหตุมีผล ไม่สร้างความกดดันหรือความตึงเครียด เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นของตนเอง และเพื่อให้ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาให้มากที่สุด โดยผู้นำจะต้องเปิดรับฟังโดยไม่มีอคติต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่าด่วนสรุปหรือรีบตัดสิน แต่ให้ฟังทุกมิติเพื่อเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด แล้วนำมาวิเคราะห์โดยใช้เหตุและผลอย่างถี่ถ้วน เพื่อหาแนวทางและสรุปการแก้ปัญหาความขัดแย้งได้อย่างตรงประเด็นและเหมาะสมที่สุด
- มุ่งที่ประเด็น ไม่ใช่ตัวบุคคล
สำหรับการทำงานร่วมกัน ทุกคนและทุกตำแหน่งหน้าที่มีความสำคัญต่อทีม จึงควรยึดเป้าหมายหลักเดียวกันเป็นที่ตั้งในการทำงาน เมื่อปัญหาขัดแย้งเกิดขึ้นไม่ว่าด้วยกรณีใดก็ตาม ควรมุ่งไปที่ประเด็น ไม่ใช่ที่ตัวบุคคล ซึ่งผู้นำควรทำความรู้จักและให้ความเคารพในความแตกต่างของแต่ละคนในทีม ไม่ควรเลือกที่รัก มักที่ชัง จนเกิดความลำเอียงไปยังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โฟกัสที่สาเหตุของปัญหา ตัดสินด้วยความยุติธรรม และสรรสร้างให้คนในทีมสามารถกลับมาสานสัมพันธุ์ที่ดีต่อกัน สามาถทำงานร่วมกันอย่างสบายใจ ทำให้ระบบการทำงานสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น
- สรุปการแก้ปัญหาความขัดแย้งในภาพรวมเพื่อหาทางออกร่วมกัน
เพราะทุกคนย่อมจะมีความคิดเห็นและไอเดีย ผู้นำจึงควรให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสนำเสนอไอเดีย แสดงความคิดเห็น และรับฟังความเห็นของกันและกัน เพื่อจะได้รับฟังมุมมองหลายมิติ อันอาจเป็นแนวทางไปสู่การแก้ไขปัญหาขัดแย้ง และสามารถปรับปรุงไปในแนวทางที่ดีขึ้น โดยสิ่งสำคัญคือการสื่อสารระหว่างสมาชิกในทีมที่มีความชัดเจน ถูกต้อง และเข้าใจตรงกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อทีมและองค์กร
- หาข้อตกลงร่วมกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิม
ปัญหาที่ได้รับการแก้ไขแล้ว ควรมีการทำข้อตกลงร่วมกัน เพื่อรับรู้และยอมรับในกฏ กติกา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเดิมขึ้นอีกในอนาคต และถ้าหากเกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นอีก จะตต้องทำอย่างไร โดยนำผลจากการลดปัญหาความแย้งที่ได้มาเป็นบทเรียนตัวอย่าง ปัญหาความขัดแย้งสามารถยุติได้อย่างไร และผู้นำควรหมั่นพูดคุยกับสมาชิกในทีม หรือพนักงานในองค์กรบ่อย ๆ เพื่อรับความคิดเห็น และรับรู้ปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อจะได้หาวิธีการรับมือ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่ปัญหาจะขยายเป็นวงกว้างจนยากต่อการแก้ไข
วิธีการหาแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งให้ได้ผลดี จะต้องให้ความร่วมมือในการแก้ไขกันทุกฝ่าย ไม่ใช่เพียงคนใดคนหนึ่ง เพราะความสำเร็จในการทำงานร่วมกัน คือ ความสามัคคีของคนในทีม และมีผู้นำที่ยุติธรรม