“ที่ผ่านมาทำไมไม่มีเงินเก็บกับเขาบ้างนะ?” หรือ “เก็บเงินได้ไม่ตามเป้าที่ตั้งไว้” นี่คือเสียงโอดครวญของใครขณะนี้บ้างหรือเปล่าเอ่ย ตั้งใจจะเก็บเงินให้ได้ตามเป้า นี่จะหมดปีแล้ว แต่สิ่งที่อยู่ในกระเป๋าแทนที่จะเป็นธนบัตร กลับมีแต่ใบแจ้งหนี้ เราไปพลาดตรงไหนนะ ที่ผ่านมาเรามีจุดอ่อนตรงไหน ถึงทำให้ไม่มีเงินเหลือเก็บ ถ้าอย่างนั้นลองมาสำรวจกันหน่อยค่ะว่า คุณมีข้อต่อไปนี้บ้างหรือเปล่า จะได้รู้ว่าพลาดตรงไหน แล้วควรปรับอย่างไร จะได้มีเงินเก็บมากขึ้นกว่าเดิม
- ใช้ก่อน ออมทีหลัง
เมื่อเงินเดือนออก วิถีของคนส่วนใหญ่ คือ เงินเดือนออก → จ่ายหนี้ (ค่าหอ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าหนี้บัตร ฯลฯ) → ซื้อของใช้ของกินเข้าบ้าน → ใช้จ่ายในระหว่างเดือน → เก็บที่เหลือเป็นเงินออม
แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่เหลือเงินให้เก็บ หรือเหลือน้อยมาก ทำให้ยอดเงินเก็บไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้สักที ดังนั้นวิธีแก้ไขปัญหานี้ คือ เมื่อเงินเดือนออก ให้แบ่งเงินส่วนที่ต้องการเก็บออมไว้ก่อน จากนั้นจึงนำเงินไปแบ่งจ่ายในส่วนต่าง ๆ โดยการแบ่งเก็บเงินออมนั้น อาจทำด้วยการแบ่งเงินสดด้วยตนเอง หรือใช้บริการโอนเงินอัตโนมัติไปเก็บไว้ในบัญชีออมที่แยกไว้ต่างหากทุกเดือน หรือใช้บริการตัดเงินสำหรับกองทุนรวมทุกเดือน และเมื่อถึงเวลาครบกำหนด จะเห็นยอดเงินสะสมที่ทำให้ใจฟูฟีล
- ไม่เริ่มเก็บออมเสียที
หลายคนที่มักจะมีข้ออ้างว่าเงินจะใช้แต่ละเดือนก็ไม่พอแล้ว จะเอาเงินที่ไหนไปเหลือเก็บเหลือออม หรือบางคนก็รอให้มีเงินมากกว่านี้ก่อนแล้วค่อยนำไปลงทุน ทำให้ไม่ได้ลงทุนหรือออมเงินเสียที เพราะการรอให้ได้เงินเดือนเพิ่มก็เหมือนการรอน้ำค้างในหน้าแล้ง ที่อาจมีความเป็นไปได้ แต่มันก็ยากมากกว่าจะเกิดขึ้นได้ และต่อให้มีโอกาสที่จะทำให้ได้เงินเพิ่มขึ้น แต่ก็มักจะมีรายจ่ายอื่น ๆ มารอดักฝันคุณทันที เช่น เกิดเจ็บป่วยกระทันหัน (ค่ายา ค่าหมอ ค่าแอดมิท) ปวดฟัน (ค่าตรวจ ค่าหมอ ค่าทำฟัน) รถเสีย โทรศัพท์หาย แว่นสายตาหัก คอมฯพัง เป็นต้น ดังนั้นแทนที่จะรอให้ได้เงินมากขึ้น ควรเก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อย ๆ หรือลงทุนทีละนิดแล้วค่อยเพิ่มสัดส่วนหรือขยายให้มากขึ้นเมื่อมีรายได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้แผนการออมเงินของคุณมีความคืบหน้ามากกว่า
- จ่ายทุกอย่างด้วยบัตรเครดิต
บัตรเครดิตมักจะมีแคมเปญให้สะสมคะแนนจากการใช้จ่ายด้วยบัตร เพื่อนำไปใช้แลกกับรางวัลต่าง ๆ ที่ทางธนาคารเจ้าของบัตรใช้เป็นเหยื่อล่อ ซึ่งบางครั้งทำให้ต้องใช้บัตรจ่ายในสิ่งที่เกินจำเป็น เพื่อจะได้สะสมคะแนนแลกกับรางวัลที่เล็งไว้ แต่อย่าลืมว่า ทุกครั้งที่รูดบัตรเพื่อได้ของมา ยังต้องจ่ายเงินคืนให้บัตรกลับไปพร้อมกับดอกเบี้ย ไม่ได้โจมตีการใช้บัตรเครดิต แค่อยากบอกว่า ใช้ให้อย่างเหมาะสมก็เพิ่มความสะดวก แต่ถ้าใช้แบบไม่ยั้ง ก็เพิ่มแต่หนี้เท่านั้น
- สร้างหนี้มากเกินไป
จากข้อที่แล้ว และรวม ๆ กับค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ ที่ทับถมและเพิ่มขึ้นในทุก ๆ วัน เพราะเมื่อไรที่มีการบวกหนี้เพิ่มมากกว่าลบหนี้ออก มันก็จะทวีคูณพอกยิ่งกว่าดินพอกหางหมู สุดท้ายก็เกษียณไปพร้อมกับหนี้ในที่สุด วิธีการแก้ไขคือ หยุดการสร้างหนี้เพิ่ม และควรให้ความสำคัญกับการลดหนี้ที่มีอยู่เสียก่อน และตั้งสติเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าไม่ควรซื้อของที่ไม่จำเป็น หากไม่มีเงินมากพอที่จะใช้จ่ายแล้วไม่เกิดปัญหาตามมา
- จ่ายภาษีที่มากเกินควร
เชื่อว่าหลายคนที่ไม่ได้ให้ความสำคัญ หรือไม่ได้สนใจในเรื่องของภาษีมากเท่าที่ควร ทำให้มีการจ่ายภาษีที่มากเกินไปโดยไม่รู้ตัว แต่สำหรับใครที่มีการวางแผนด้านภาษีอยู่เสมอ จะทำให้รู้ถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากภาษีด้วยเช่นกัน เช่น การออมเงินเพื่อการเกษียณ จะช่วยเพิ่มอัตราเงินสะสมในกาองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อลดหย่อนเพิ่มขึ้นได้ หรือการทำประกันชีวิตระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป แบบไหนที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ รวมไปถึงการลงทุนรวม SSF / RMF ที่ต้องกรอกแบบฟอร์มแจ้งสรรพากรตามกำหนดเวลา เพื่อได้ใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น
- รสนิยมสูงเกินกำลังตน
เดี๋ยวนี้จะทำอะไร ซื้ออะไร กินอะไร ไปเที่ยวที่ไหน ก็มักจะมีการโพสอวดลงโซเซียล จนกลายเป็นการสร้างกระแสนิยม โดยเฉพาะการไลฟ์สไตล์ของเหล่าคนดัง เซเลบ หรือ Influencer ที่มักจะมีการโพสอาหารดี ๆ คาเฟ่แพง ๆ โรงแรมหรู ๆ กระเป๋าแบรนด์เนม ฯลฯ ทำให้คนที่ได้เห็นได้ชม ก็อยากมี อยากสัมผัสประสบการณ์ชีวิตแบบนั้นบ้าง โดยลืมไปว่ารายได้ของตนไม่สัมพันธ์กับรายจ่ายที่ต้องแลกให้ได้มา บางคนฝืนยอดเงินในกระเป๋า เพื่อให้ได้ใช้ชีวิตอย่างเขา แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาเหลือให้เก็บออม พอใกล้สิ้นเดือน คลำเจอแต่ใบแจ้งหนี้ ไม่มีแม้แต่ใบเขียว ทำให้ต้องชีวิตดีเมื่อต้นเดือน ชีวิตเลือนเมื่อสิ้นปี เพราะไม่มีเงินเก็บอย่างใครเขานั่นเอง