วันไหว้พระจันทร์ 2566 ตรงกับวันไหน
ใกล้ถึงเทศกาลวันไหว้พระจันทร์อีกแล้ว โดยวันไหว้พระจันทร์ในภาษาจีนเรียกว่า “จงชิว” และมีการเรียกวันไหว้พระจันทร์ในอีกหลายชื่อ เช่น เทศชมจันทร์ เทศกาลเล่นพระจันทร์ เทศกาลพระจันทร์ หรือเทศกาลเดือนแปด เนื่องจากวันไหว้พระจันทร์จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจีน ซึ่งจะตรงกับปฏิทินไทยช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม ทุกปี โดยวันไหว้พระจันทร์ 2566 ตรงกับวันศุกร์ที่ 29 กันยายน 2566
วันไหว้พระจันทร์
การไหว้พระจันทร์ เป็นวัฒนธรรมจีนที่กำหนดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวพืชผล เนื่องจากเมื่อเข้าสู่เดือน 7 – 9 ตามจันทรคติของปฏิทินจีน การเกษตรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ดี เนื่องจากภูมิอากาศดี ไร้เมฆฝน ท้องฟ้าแจ่มใส และสามารถมองเห็นพระจันทร์ได้อย่างสวยงามที่สุด ส่วนผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ก็จะนำไปไหว้บูชาบรรพบุรุษช่วงสารทจีนในเดือนสิงหาคมที่ได้เกิดขึ้นก่อนเทศกาลไหว้พระจันทร์ และชาวจีนยังได้ถือเอาวันนี้เป็นวันครอบครัว โดยสมาชิกทุกคนในบ้านจะมาร่วมรับประทานขนมเปี๊ยะ ผลไม้ และน้ำชาพร้อมหน้าพร้อมตากันในช่วงกลางคืน พร้อมกับชมความงามของพระจันทร์ไปด้วยกัน และแน่นอนว่า สิ่งที่เป็นตัวชูโรงและจะขาดไม่ได้เลยในเทศกาลไหว้พระจันทร์ คือ “ขนมไหว้พระจันทร์”
ขนมไหว้พระจันทร์ ประวัติความเป็นมา
ในช่วงยุคปลายราชวงศ์หยวน ชาวมองโกลได้ปกครองชาวฮั่นอย่างกดขี่ข่มเหง จนชาวฮั่นได้วางแผนก่อกบฎต่อต้าน ด้วยการแอบสอดสาส์นไว้ในขนม โดยมีใจความว่า “ให้สังหารทหารมองโกลพร้อมกันในช่วงเวลายาม 3 ของคืนนี้” แล้วนำไปแจกจ่ายให้ทุกบ้าน จนสามารถทำได้สำเร็จ อันนำมาซึ่งเอกราชของชาวฮั่น และกลายเป็นประเพณีไหว้พระจันทร์และทานขนมไหว้พระจันทร์จนถึงปัจจุบัน
ขนมไหว้พระจันทร์ไส้ไหนแคลอรีมากที่สุด
ขนมไหว้พระจันทร์ ส่วนใหญ่มักจะทำจากแป้งนวดแล้วกดใส่แป้นพิมพ์ที่มีลวดลายต่าง ๆ จากนั้นนำไปอบและเคลือบผิวหน้าด้วยน้ำเชื่อม บรรจุไส้ต่าง ๆ อยู่ภายใน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นธัญพืชต่าง ๆ เช่น เมล็ดบัว แมคคาเดเมีย อัลมอนด์ พุทราจีน ชาเขียว คัสตาร์ด หรือ ทุเรียน เป็นต้น แต่ได้มีการดัดแปลงใส่เนื้อสัตว์เข้าไปด้วยในปัจจุบัน เช่น หมูแดง หมูแฮม หมูหยอง กุนเชียง หรือไข่เค็ม เป็นต้น
แต่ขนมไหว้พระจันทร์มักมีแป้งและน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก อีกทั้งยังมีน้ำมัน น้ำเชื่อม และเมื่อไปรวมกับไส้ต่าง ๆ ที่มีรสชาติเป็นทุนเดิม ยิ่งส่งเสริมให้กลายเป็นของหวานที่มีพลังงานสูงมาก โดยขนมไหว้พระจันทร์ 1 ชิ้น ให้พลังงานได้สูงถึง 614 – 770 กิโลแคลอรีเลยทีเดียว ซึ่งนับว่าสูงกว่าอาหารมื้อหลัก ๆ อย่าง ข้าวผัดกระเพราหมูสับ ข้าวผัดหมู ผัดไทยกุ้งสด ฯลฯ เสียอีก และต่อให้ตัดแบ่งขนมไหว้พระจันทร์เป็นชิ้นเล็ก ๆ ถึง 6 ส่วนด้วยกัน ก็ยังให้พลังงานประมาณ 96 – 100 กิโลแคลอรี / ชิ้น อยู่ดี
ขนมไหว้พระจันทร์ปริมาณ 100 กรัม ในแต่ละไส้ให้พลังงานแตกต่างกัน เช่น
- ขนมไหว้พระจันทร์ไส้ทุเรียน ให้พลังงาน 345 กิโลแคลอรี
- ขนมไหว้พระจันทร์ไส้ทุเรียนและไข่เค็ม ให้พลังงาน 375 กิโลแคลอรี
- ขนมไหว้พระจันทร์ไส้เม็ดบัว ให้พลังงาน 384 กิโลแคลอรี
- ขนมไหว้พระจันทร์ไส้เม็ดบัวและไข่ ให้พลังงาน 404 กิโลแคลอรี
- ขนมไหว้พระจันทร์ไส้พุทราจีน ให้พลังงาน 338 กิโลแคลอรี
ในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ ชาวจีนและคนไทยเชื้อสายจีน รวมไปถึงคนไทยหลาย ๆ คน มักนิยมซื้อขนมไหว้พระจันทร์เป็นของฝาก หรือซื้อมากินเฉลิมฉลองกันในบ้าน โดยการทานขนมไหว้พระจันทร์ไม่ควรกินทีเดียวหมดทั้งชิ้นในวันเดียวกัน และควรเลี่ยงการทานขนมหวานอื่น ๆ รวมไปถึงเครื่องดื่มรสหวานต่าง ๆ หลังจากกินขนมไหว้พระจันทร์ เพราะจะทำให้ได้รับพลังงานมากเกินความต้องการของร่างกาย ทำให้มีการเปลี่ยนแป้งและน้ำตาลเป็นไขมันสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และถ้ายิ่งขาดการออกกำลังกาย จะส่งผลให้มีน้ำหนักเกิน อ้วย ลงพุง และก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้