การนอนหลับพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก รวมไปถึงประสิทธิภาพในการทำกิจวัตรประจำวันของเราอีกด้วย หลายคนที่มักจะพักผ่อนน้อย อดนอน ทั้งจากการโหมงาน ทำงานหนัก อ่านหนังสือเตรียมสอบ ตะลุยดูซีรีส์ หรือมีความเครียดสะสมจนนอนไม่หลับ ส่งผลเสียต่อสุขภาพจากการนอนไม่พอ อาการป่วย เจ็บไข้ ไม่สบาย ร่างกายสดชื่น สลึมสลือ สติไม่เต็มร้อย คิดงานไม่ออก และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินจากอาการเผลอวูบได้ เช่น มีอาการวูบขณะขับขี่ยานพาหนะ หรือวูบขณะทำงานกับเครื่องจักร เป็นต้น
การพักผ่อนไม่เพียงพอหรืออดนอนเป็นประจำ มีอันตรายต่อสุขภาพทางร่างกายและสมองมากกว่าที่คิด อันตรายจากการอดนอนมีอะไรบ้าง ไปดูกัน
อาการที่บ่งบอกว่านอนหลับไม่เพียงพอมีอะไรบ้าง
เคยสังเกตตัวเองไหมว่า ได้นอนหลับเพียงพอตามที่ร่างกายและสมองต้องการหรือไม่ หากมีอาการเหล่านี้ ร่างกายกำลังฟ้องว่านอนไม่พอ
เมื่อตื่นนอนตอนเช้า รู้สึกไม่สดชื่น อยากนอนต่อ เหมือนนอนไม่อิ่ม
มีอาการง่วง และหาวนอนตลอดเวลาในระหว่างวัน
สมองตื้อ มึนงง เหม่อลอย คิดอะไรไม่ออก
สามารถหลับได้อย่างรวดเร็ว ภายใน 5 นาที
เผลอหลับโดยไม่รู้ตัว
อันตรายจากการอดนอน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้านใดบ้าง
1. การอดนอนส่งผลกระทบต่อร่างกายและอารมณ์
เมื่ออดนอนหรือนอนไม่พอ จะส่งผลให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลง ทำให้เจ็บป่วยง่าย เพราะร่างกายจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันมากที่สุดในขณะที่เรานอนหลับ
ร่างกายเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก เพราะฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของร่างกายถูกสร้างน้อยลง เติบโตช้า หรือแคระแกรน และ มีสุขภาพอ่อนแอ เจ็บป่วยบ่อย เพราะระบบภูมิคุ้มกันถูกรบกวน
เป็นโรคอ้วน เนื่องจากความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด ทำให้น้ำตาลในเลือดไม่เพียงพอ การตื่นนอนอยู่นาน ยิ่งทำให้ร่างกายมีการเผาผลาญพลังงานมากขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น จึงทำให้รู้สึกหิวบ่อย ต้องการความหวาน และทานอาหารมากขึ้นไปด้วย
หน้าโทรม ผิวพรรณไม่สดใส ผิวเหี่ยวย่นง่าย แก่เร็ว
อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ฉุนเฉียวบ่อย รู้สึกไม่สดชื่น
2. การอดนอนเป็นประจำมีผลกระทบต่อระบบสมอง
อดนอนเรื้อรังส่งผลต่อการทำงานของสมองให้ผิดปกติ จนอาจก่อให้เกิดโรคร้ายแรงอื่น ๆ ตามมาได้
การทำงานของสมองชะงัก ไม่มีสมาธิ กระบวนการเรียนรู้ช้าลง จดจำอะไรไม่ได้
มีอาการหลับใน วูบ หรืองีบหลับสั้น ๆ เนื่องจากสมองส่วนธารามัส (Thalamus) หยุดทำงานช่วงสั้น ๆ เป็นเวลาชั่วคราว อาจเป็นวินาที หรือนานถึงนาที ที่สมองไม่รับรู้หรือตอบสนองต่อสิ่งเร้าใด ๆ จนทำให้เกิดอาการวูบ หรือหลับใน ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้ หากเกิดขึ้นในขณะที่ขับขี่ยานยนต์ ทำงานกับเครื่องจักร หรืองานที่ต้องใช้ความเร็วหรือความแม่นยำ
ทำให้หลอดสมองตีบ เพราะการที่ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลต่อสารเคมีในสมอง และมีผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มที่มักมีอาการปวดหัวจากหลอดสมองตีบ หลายรายมีประวัตินอนนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ แต่เมื่อผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ปรับพฤติกรรมการนอน ได้นอนพักมากขึ้น อาการหลอดเลือดสมองตีบก็ดีขึ้นตามไปด้วย
ก่อให้เกิดอาการทางจิต มีภาวะ Psychosis หรือ โรคทางจิต ที่เกิดจากการอดนอนขั้นรุนแรง ทำให้มีอาการหงุดหงิดง่าย อารมณ์ฉุนเฉียว อาจทำให้เกิดประสาทหลอน หูแว่ว หวาดระแวงคนมาทำร้าย มีอารมณ์แปรปรวน คล้าย Bipolar Disorder หรือที่รู้จักกันดีในโรคอารมณ์สองขั้ว
โทษของการอดนอนนั้นน่ากลัว และส่งผลอันตรายได้มากกว่าที่คิดจริง ๆ ดังนั้น หากรู้ตัวว่ากำลังมีพฤติกรรมของการนอนไม่พอ ต้องรีบปรับเปลี่ยนโดยด่วน เพื่อเป็นการป้องกันและรักษาสุขภาพของตัวเอง แก้ก่อนจะสาย จะได้ไม่เกิดการสูญเสียตามมา