เชื่อว่าหลายคนมีของรักของหวง บางคนก็อาจเป็นนักสะสม แต่มีใครที่เก็บของทุกสิ่ง จะทิ้งอะไรก็เสียดาย ของนั้นจะใช้ได้หรือไม่ได้ก็ขอเก็บไว้ก่อนบ้างเอ่ย? ลองมาสำรวจดูตัวเองกันสักหน่อยดีกว่า ว่าคุณเก็บของเพราะรู้จักคุณค่าของสิ่งนั้น จึงเก็บรักษาเพื่อให้อยู่สภาพดี และพร้อมใช้งานเมื่อถึงเวลา เป็นนักสะสม หรือเป็น “โรคชอบเก็บสะสมของ” กันแน่
โรคชอบเก็บของต่างจากนักสะสมอย่างไร
ความแตกต่างระหว่างนักสะสมกับคนป่วยโรคเก็บสะสมของ สามารถแยกความแตกต่างกันได้ง่ายมาก คือ นักสะสมจะมีเป้าหมายในวัตถุหรือสิ่งของที่สะสม มีการเก็บรักษาไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย และมักจะนำออกมาอวดด้วยความภูมิใจ ในขณะที่คนเป็นโรคชอบสะสมจะเก็บสิ่งของทุกอย่าง ทั้งที่มีประโยชน์และของที่หาประโยชน์ไม่ได้แล้ว เก็บดะไปเรื่อยจนรกเกะกะเต็มรอบบ้าน จนบางคนอาจเรียกว่าเป็นโรคเก็บสะสมขยะ หรือโรคบ้านรก เพราะของที่คนสะสมประเภทนี้เป็นของทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก กล่องกระดาษ ขวดต่าง ๆ เป็นต้น
โรคเก็บสะสมของ คืออะไร
โรคชอบเก็บของ คือ อาการทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่ชอบเก็บสะสมของไว้ทุกอย่าง ไม่สามารถตัดใจทิ้งได้ เพราะคิดว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตปกติ เนื่องจากการเก็บของที่มากเกินไป เต็มพื้นที่บ้าน ไม่มีที่จะเดิน อาจเกิดอันตรายจากการสะดุดข้าวของล้ม ของหล่นหรือล้มทับ หรืออยู่อาศัยในห้องรก สกปรก และเต็มไปด้วยฝุ่นละอองจนทำให้ป่วยเป็นภูมิแพ้
โรคชอบเก็บของ หรือ โรค Hoarding Disorder เป็นโรคที่เพิ่งถูกบัญญัติในเกณฑ์การวินิจฉัยโรคทางจิตเวช หรือการจำแนกโรคทางจิตเวช DSM 5 (Diagnostic and Statistical Manual of Mental disorders fifth edition) เมื่อ พ.ศ.2556 โดยอาการโรคเสียดายของนี้จะเริ่มตั้งแต่วัยหนุ่มสาว และเมื่ออายุมากขึ้นอาการโรคไม่ชอบทิ้งของก็จะรุนแรงขึ้น ทำให้ของที่คนชอบสะสมมากขึ้นและล้นบ้านจนแทบไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับคนอาศัย
อาการโรคเก็บสะสมของเป็นอย่างไร
- มีความต้องการอยากเก็บสะสมสิ่งของ
- เสพติดการซื้อของ – โรคชอบซื้อของ
- ไม่สบายใจที่จะต้องทิ้งสิ่งของ – โรคไม่ชอบทิ้งของ
- ยึดติดว่าของทุกชิ้นเป็นของสำคัญ
- ตัดใจทิ้งสิ่งของไม่ได้ แม้ว่าของนั้นจะไม่มีความจำเป็นต้องใช้แล้ว
- ของที่คนชอบสะสมมักไม่สำคัญ เช่น นิตยสารเก่า หนังสือพิมพ์เก่า กล่องพลาสติกแตก
- เก็บของจนบ้านรก สกปรก ที่อยู่อาศัยไม่สะอาด เป็นที่สะสมเชื้อโรค
- ไม่อยากพบผู้คน ชอบอยู่ในที่มืด
โรคเก็บสะสมของ สาเหตุเกิดจากอะไร
สาเหตุโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของนี้ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่ามีปัจจัยบางอย่างที่จะกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ ได้แก่
- อาการผิดปกติทางบุคลิกภาพ
- พันธุกรรม มีญาติทางสายเลือดมีอาการของโรค เช่น แม่ชอบเก็บของ อาจทำให้ติดพฤติกรรมเดียวกัน
- มีภาวะสูญเสียรุนแรง
- มีภาวะโรควิตกกังวล
- โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ OCD (Obsessive-Compulsive Disorder)
- โรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder)
- มีภาวะสมองได้รับบาดเจ็บหรือสมองเสื่อม (Dementia)
- โรคซึมเศร้า (Depression)
- โรคไบโพลาร์ (Bipolar disorder)
- โรคจิตเภท (Schizophrenia)
- ความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning disability)
- โรคชรา
โรคเก็บสะสมของรักษามีวิธีรักษาอย่างไร
สำหรับใครที่เริ่มรู้ตัวว่ามีพฤติกรรมที่เข้าข่ายจะเป็นโรคชอบเก็บของก็อาจรักษาให้หายขาดได้ ด้วยการปรับทัศนคติและนิสัยการจัดเก็บของที่จำเป็น แต่กรณีที่เป็นโรคเก็บสะสมของเรื้อรังอาจไม่หายขาด แต่สามารถรักษาให้อาการดีขึ้นได้ โดยมีแนวทางการรักษาโรคเก็บสะสมด้วยกัน 2 วิธี คือ
- ใช้ยาต้านเศร้า (Antidepressant) ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการวินิจฉัยและอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์ โดยทางแพทย์จะให้ยาต้านเศร้า เพื่อลดความเครียดและความหมกมุ่นต่อการสะสมสิ่งของ ซึ่งจะได้ผลมาก-น้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับระยะเวลาอาการที่เป็นมาก่อนได้รับการรักษา
- พฤติกรรมบำบัด เป็นวิธีรักษาอาการทางจิตที่นิยมใช้และได้ผลพอสมควร โดยจะมุ่งเน้นฝึกทักษะการตัดสินใจให้ผู้ป่วยสามารถจัดการเก็บหรือทิ้งสิ่งของที่มีได้อย่างมีเหตุมีผลเป็นองค์ประกอบ ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจและตัดสินใจเลือกที่จะเก็บของที่จำเป็นและทิ้งสิ่งของที่สมควรได้
อย่างไรก็ตาม อาการของโรคชอบเก็บสะสมของสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย หากของที่คนชอบสะสมเป็นสิ่งที่ยังใช้ประโยชน์ได้ เก็บรักษาเพื่อให้มีอายุการใช้งานได้นาน นับว่าเป็นเรื่องที่ดีและเป็นการรู้จักคุณค่าในสิ่งของ แต่ถ้าการเก็บสะสมของเริ่มมากเกินความจำเป็น และส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันตามที่กล่าวมาข้างต้น … นั่นหมายความว่า คุณกำลังเป็นโรค Hoarding Disorder อาจต้องลองหาช่องทางปรึกษานักจิตเวชหรือเข้าพบจิตแพทย์เพื่อรับการบำบัดที่เหมาะสม