ตื่นนอนในตอนเช้าก็ว่ายากแล้ว เพราะเหมือนยังง่วงจนยังไม่อยากลุกจากที่นอน แต่ช่วงบ่ายหลังพักทานมื้อเทียง กลับรู้สึกง่วงและหนังตาหนักจนแทบจะทำงานต่อไม่ได้ยิ่งกว่า
สาเหตุที่ทำให้ง่วงนอนตอนบ่าย
- กินเยอะ
อาหารที่กระหน่ำกินในมื้อกลางวัน ทั้งของคาว ของหวาน โดยเฉพาะกินอาหารประเภทแป้ง คาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง มากเกินไป ทำให้ระบบในร่างกายทำงานหนักเพื่อย่อยและเผาผลาญ ยิ่งกินมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้รู้สึกง่วงนอนมากขึ้น
- ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย
การนั่งทำงานอยู่กับที่นาน ๆ ไม่ได้ลุกออกไปเดิน หรือขยับเคลื่อนไหวร่างกาย รวมไปถึงการจดจ่ออยู่กับอะไรนาน ๆ เช่น การนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ ส่งผลให้ล้าสายตา และเกิดอาการง่วงนอน
- มีปัญหาด้านสุขภาพ
ปัญหาสุขภาพ รวมไปถึงผู้มีโรคประจำตัว ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ง่วงนอนในตอนบ่ายได้เช่นกัน
รับมือกับอาการง่วงนอนตอนบ่ายอย่างไรดี
- แบ่งย่อยมื้ออาหาร
เปลี่ยนจากการทานอาหารมื้อหนัก ๆ ในปริมาณมาก เป็นทานบ่อย ๆ ในปริมาณที่ลดลง เพื่อให้ร่างกายไม่ทำงานหนักเกินไป แต่ก็ไม่อ่อนเพลียจากการได้สารอาหารไม่เพียงพอ อาจเปลี่ยนจากการทานอาหารวันละ 3 มื้อหลัก เป็นทานอาหารวันละ 5-6 มื้อย่อยแทน
- ดื่มน้ำบ่อย ๆ
หลังจากทานอาหานในแต่ละมื้อ ควรดื่มน้ำตามให้มากเพื่อให้น้ำไปช่วยลดภาระการทำงานหนักของระบบย่อย ทำให้ร่างกายไม่อ่อนเพลียเกินไป และควรจัดเตรียมน้ำไว้บนโต๊ะทำงาน หรือใกล้ตัวขณะทำงาน ช่วยให้สะดวกในการจิบน้ำได้บ่อย ๆ เพราะน้ำจะไปช่วยเติมความสดชื่นให้กับร่างกาย
- บอกลาของหวาน
ของหวานทุกประเภท ทั้งขนมขบเคี้ยว เบเกอรี่ เครื่องดื่มที่มีแต่น้ำตาลยอดนิยม ที่ใครหลายคนยังเชื่อว่าการเติมพลังให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าในการทำงาน คือต้องเติมน้ำตาล จริงอยู่ว่าหลังจากกินของหวานจะรู้สึกสดชื่นขึ้น แต่ก็เพียงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น แต่ผลเสียระยะยาวกลับมีมากกว่า เพราะของหวานเป็นสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตชนิดเร่งด่วน ไปเร่งการหลั่งอินซูลินของตับอ่อน ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ที่นอกจากจะยิ่งทำให้เราง่วงนอนมากขึ้นกว่าเดิม ยังเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเบาหวานและโรคประจำตัวอื่น ๆ และยังก่อให้เกิดโรคอ้วนอีกด้วย อาจเปลี่ยนจากน้ำหวานที่ได้จากน้ำตาลเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรมีสรรพคุณดีต่อสุขภาพแทนดีกว่า แก้ง่วงแล้วยังได้ประโยชน์
- นอนหลับให้เพียงพอในช่วงกลางคืน
สำหรับใครที่มักจะนอนไม่หลับในตอนกลางคืน อันมาจากสิ่งรอบตัว ภูมิอากาศ หรือโรคประจำตัว ทำให้ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลให้มีอาการง่วงนอนในเวลากลางวันแทน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อกิจวัตรประจำวัน การเรียน และการทำงาน ดังนั้น อาจต้องหาอุปกรณ์ช่วยเสริมกานอนหลับให้ดีขึ้น เช่น อุปกรณ์การนอน อย่าง หมอนเพื่อสุขภาพ ผ้าปูที่นอนไร้ไรฝุ่น เครื่องฟอกอากาศ สำหรับผู้มีโรคประจำตัว ประเภทโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ภูมิแพ้ หอบหืด เพื่อช่วยให้หลับได้สนิทตลอดคืน ไม่ต้องตื่นขึ้นมากลางดึกเพราะอาการภูมิแพ้ หรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับสำหรับผู้ที่มีปัญหานอนกรน จนรบกวนการนอนหลับของตนเองและสมาชิกในบ้าน