วันนี้เราจะมาชวนเพาะเห็ดเสริมรายได้งาม ๆ กันดีกว่า เพราะขึ้นชื่อว่า เห็ด เป็นอาหารยอดนิยมของคนไทยอยู่แล้ว เพราะปรุงอาหารได้หลากหลาย มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ทำเมนูอะไรก็อร่อย กินแล้วไม่อ้วน โดยเฉพาะเห็ดฟาง เป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภคอยู่ตลอด แถมทำได้ง่ายในการเพาะเห็ดฟาง มือใหม่ก็ทำได้ หากจัดระเบียบดี ๆ สามารถสร้างผลผลิตเพื่อเพิ่มช่องทางรายได้ตลอดปีเลยทีเดียว
เพาะเห็ดฟางใช้เวลากี่วัน
เห็ดฟาง ไม่จำเป็นต้องคอยรดน้ำใส่ปุ๋ย ไม่ต้องดูแลมาก แต่เจริญเติบโตไวมาก หลังจากที่เพาะเห็ดฟางได้ประมาณ 10 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว โดยในช่วง 3 – 4 วันแรก จะเป็นช่วงบ่มใย และใน 5 – 6 วันหลัง จะเป็นการบ่มดอกเห็ดเพื่อเติบโต ผลผลิตต่อตะกร้าจะอยู่ที่ราว ๆ 2 – 3 กิโลกรัม แต่ต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย โดยเห็ดฟางจะออกดีในสภาพอากาศร้อนชื้น
ราคาเห็ดฟางและช่องทางจำหน่าย
ราคา : เห็ดฟางราคาจะอยู่ในเรทที่ 50 – 100 บาท / กิโลกรัม แต่ราคาเห็ดฟางแพงสูงขึ้นช่วงหน้าหนาว เพราะผลผลิตได้น้อย สวนทางกับความต้องการของตลาดที่มีตลอดปี
ช่องทางการจำหน่าย : โดยทั่วไปมักจะมีคนมาติดต่อซื้อถึงแหล่งขายหรือหน้าฟาร์มเลย แต่ถ้าไม่ได้มีการกระจายข่าว หรือเพาะจำนวนไม่มากนัก อาจนำไปขายส่งให้กับตลาด ร้านอาหาร หรือห้างสรรพสินค้าใกล้บ้านได้เลย เพราะเห็ดฟางจำหน่ายง่าย กับทุกกิจการที่เกี่ยวข้องกับอาหาร หรือแม้แต่จัดใส่ตะกร้าขายปลีกหน้าบ้าน
ต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้างในการเพาะเห็ดฟางในตะกร้าและมีค่าใช้จ่ายเท่าไร
- หัวเชื้อเห็ดฟาง ก้อนละประมาณ 15 – 20 บาท (หนึ่งก้อนใช้ได้ 2 – 3 ตะกร้า)
- ตะกร้าพลาสติก ประมาณ ใบละ 20 – 40 บาท
- อาหารเสริม เช่น ฟางข้าว ขี้เลื่อย เปลือกมันสำปะหลัง ผักตบชวา เริ่ม 10 – 30 บาท
- โครงไม้ไผ่ หรือ สุ่มไก่สำเร็จรูป ใบละ 200 – 250 บาท
วิธีเพาะเห็ดฟางในตะกร้า
หลังจากหาซื้อวัสดุอุปกรณ์และก้อนเชื้อเห็ดฟางครบเรียบร้อย ก็เริ่มทำการเพาะเห็ดฟางในตะกร้าตามขั้นตอนต่อไปนี้
- นำฟางข้าวแช่น้ำไว้ 1 คืน ก่อนทำการเพาะเห็ด
- ทุบก้อนเชื้อเห็ดฟางในถุงให้แตกพอประมาณ ไม่ต้องให้ถึงกับละเอียด จากนั้นนำไปผสมกับแป้งสาลี 1 ช้อนชา
- แบ่งก้อนเชื้อเห็ดฟางออกเป็น 2 หรือ 3 กอง (ขึ้นอยู่กับขนาดก้อนเชื้อเห็ด) ให้เท่า ๆ กัน
- นำฟางข้าวที่ผ่านการแช่น้ำแล้ว 1 คืน ใส่ลงในตะกร้า โดยให้ฟางข้าวมีความสูงประมาณ 2 – 3 นิ้ว และกดให้ฟางข้าวมีความแน่น
- โรยอาหารเสริมที่เตรียมไว้ลงไปในตะกร้า ให้พอดี อย่าใส่มากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดการเน่าเสียได้
- นำเชื้อเห็ดฟางมาโรยรอบ ๆ ไปบนอาหารเสริม โรยเน้น ๆ ที่ช่องตะกร้า จะได้เป็นชั้นที่ 1
- โรยแบบเดิมเพื่อทำชั้นที่ 2 และ ชั้นที่ 3
- หลังจากโรยชั้นที่ 3 เสร็จสิ้น ให้ปิดทับด้วยฟางข้าว
- รดน้ำใส่ตะกร้าให้เปียกชุ่ม
- นำตะกร้าเห็ดฟางไปวางไว้ในบริเวณที่จัดเตรียมไว้ โดยควรวางบนเหนือพื้นดินประมาณ 3 – 4 นิ้ว อาจใช้ก้อนอิฐวางรองเป็นฐาน เพื่อไม่ให้ติดพื้นดิน
- นำโครงไม้ไผ่หรือสุ่มไก่ครอบตะกร้า
- นำพลาสติกคลุมโครงไม้ไผ่หรือสุ่มไก่อีกที โดยคลุมจากด้านบนจนถึงพื้นให้มิดชิด
- อาจใช้วัสดุพรางหรือสแลนคลุมทับซ้อนอีกที
การดูแลเห็ดฟางในตะกร้า
- บริเวณที่จัดวางตะกร้าเพาะเห็ดฟางควรเป็นที่ร่ม ใต้ร่มไม้หรือร่มสนิท
- ซ้อนตะกร้าให้เป็นรูปสามเหลี่ยม แนวยาว 1 หรือ 2 แถว
- รดน้ำที่พื้นดินให้เปียกแฉะ เพื่อให้เห็ดได้รับความชื้นจากการระเหยของน้ำในดิน
- หากเป็นโรงเรือน ควรรักษาอุณหภูมิให้อยู่ที่ประมาณ 30 – 40 องศาเซลเซียส
- ในช่วงเย็นของวันที่ 4 หลังจากทำการเพาะเห็ดฟาง ให้เปิดพลาสติกที่คลุมออกประมาณ 30 นาที เพื่อให้อากาศเข้าไปกระตุ้นเส้นใย และปิดคลุมพลาสติกเหมือนเดิมเมื่อครบเวลา
- เมื่อเริ่มเข้าสู่วันที่ 5 ให้เปิดพลาสติกที่คลุมออกในช่วงเย็น ประมาณ 15 นาที แล้วปิดคลุมเหมือนเดิม
- เริ่มเก็บผลผลิตเห็ดฟางได้ตั้งแต่วันที่ 8 – 10 วัน
- การเก็บเห็ดฟางควรเก็บด้วยความนุ่มนวลและเบามือที่สุด เพราะเห็ดฟางบอบช้ำง่าย
- พร้อมนำไปบริโภคหรือส่งขายได้เลย
การเพาะเห็ดฟางในตะกร้าแบบนี้ สามารถทำได้ทุกรูปแบบอาศัย คนในเมืองที่อาศัยในห้องเช่าหรือคอนโดที่พอมีพื้นที่ระเบียงก็สามารถเพาะขายหรือเพาะไว้กินเองได้ เพราะเห็ดฟางสามารถนำไปดัดแปลงเมนูสุขภาพได้หลากหลาย เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคตลอดปี และราคาเห็ดฟางดีทุกฤดูกาลอีกด้วย